ปรับพอร์ตเศรษฐกิจจีน / อาร์ม ตั้งนิรันดร

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
always24
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 854
ผู้ติดตาม: 10

ปรับพอร์ตเศรษฐกิจจีน / อาร์ม ตั้งนิรันดร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ปรับพอร์ตเศรษฐกิจจีน

วันก่อนผมมีโอกาสได้คุยกับผู้ใหญ่ที่ผมเคารพมากท่านหนึ่ง ซึ่งท่านเป็นนักธุรกิจระดับแนวหน้าของไทย

ท่านชวนคิดว่า ประเทศไทยเรามีแนวทางที่ชัดเจนในการปรับพอร์ตเศรษฐกิจของประเทศไหม? เช่น เราควรมีสัดส่วนภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการเท่าไร? ในภาคอุตสาหกรรมเราควรกระจายกลุ่มอุตสาหกรรมและความเสี่ยงอย่างไร?

ท่านยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า นักลงทุนเองก็ต้องคิดถึงการปรับพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมอยู่เสมอ ประเทศเองก็น่าจะต้องคิดเช่นกันถึงโครงสร้างภาคเศรษฐกิจที่เหมาะสม

เรามักเห็นมาตรการระยะสั้นมากมายในการรับมือปัญหาความผันผวนทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะจากสงครามการค้าหรือราคาพืชผลการเกษตรที่ตกต่ำ แต่เรามีทิศทางที่ชัดเจนไหมว่า พอร์ตเศรษฐกิจของไทยที่เหมาะสมควรหน้าตาเป็นเช่นไร ประเทศจึงจะมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและยั่งยืน

ผมเล่าให้ท่านฟังว่า ที่จีนดูเหมือนจะย้ำเน้นเรื่องการปรับพอร์ตเศรษฐกิจของประเทศมากว่า 10 ปีแล้วครับ เมื่อเดือนที่ผ่านมา สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนได้ประกาศผลการสำรวจข้อมูลเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยครั้งก่อนหน้ามีการสำรวจเมื่อ 5 ปีก่อน คือเมื่อปี ค.ศ. 2013 ผลปรากฏว่า ในการสำรวจรอบล่าสุดในปีนี้ ตอกย้ำถึงทิศทางการปรับพอร์ตเศรษฐกิจจีน 4 ประการด้วยกันครับ

เทรนด์แรกและเป็นเทรนด์ที่สำคัญที่สุดก็คือ ประเทศจีนกำลังปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ภาคบริการมากขึ้น ในปัจจุบัน ภาคบริการได้กลายมาเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญมากที่สุด แซงหน้าภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมไปแล้ว

จากการสำรวจครั้งนี้ หากคิดจากจำนวนบริษัทที่ไม่อยู่ในภาคเกษตร หรือก็คือเอาจำนวนบริษัทในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของจีนมาบวกรวมกัน จะพบว่า จำนวนของบริษัทที่อยู่ในภาคบริการของจีน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 80.3% จากจำนวนบริษัททั้งหมดในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของจีนรวมกัน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมาก

นอกจากนั้น ยังพบว่าจำนวนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการมีจำนวนสูงถึง 380 ล้านคน ถือว่าเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของจำนวนแรงงานทั้งหมดในประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจเมื่อ 5 ปี ก่อนหน้านี้ จำนวนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมลดลง 10.4% ขณะที่จำนวนแรงงานในภาคบริการเพิ่มขึ้นถึง 28.9% สะท้อนว่าภาคบริการกลายเป็นภาคที่ดึงดูดและซึมซับแรงงานได้เป็นอย่างดี

ทิศทางการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปเน้นที่ภาคบริการนั้น มีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 หรือเมื่อ 10 ปี ที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วง “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” หรือวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ และยุโรป ตอนนั้นปัญหาของจีนคือพึ่งพิงการส่งออกสูงเกินไป (ขณะนั้นการส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 32% ของ GDP ของจีน) ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจของโลกตะวันตกชะลอตัวในช่วงนั้น จึงย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจจีน ทำให้จีนเริ่มพยายามปรับตัวลดการพึ่งพิงการส่งออกลงตั้งแต่ตอนนั้น

มีนักวิเคราะห์ฝรั่งหลายคนพูดทีเล่นทีจริงว่า หากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เศรษฐกิจจีนในสมัยนั้นคงพังแน่ เพราะจีนพึ่งพิงการส่งออกสูงมากในตอนนั้น

แต่เนื่องจากความพยายามในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกลดลงจาก 32% ลงมาอยู่ที่ 19% ของ GDP จีน (โดยที่การส่งออกไปสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 18.4% ของการส่งออกทั้งหมดของจีน) เพราะฉะนั้น สงครามการค้าในวันนี้ทำให้จีนเจ็บตัวแน่นอน แต่ไม่ถึงกับจะพินาศเหมือนกับถ้าสงครามการค้าเกิดขึ้นเมื่อ 10 ปี ที่แล้วตอนที่เศรษฐกิจจีนพึ่งพิงการส่งออกสูงกว่านี้

การเน้นภาคบริการเป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยตอบโจทย์การลดสัดส่วนภาคการส่งออก เพราะการลดสัดส่วนภาคการส่งออกหมายถึงการลดสัดส่วนของภาคอุตสาหกรรม และย่อมหมายถึงการลดสัดส่วนของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมด้วย คำถามคือ แล้วแรงงานที่แต่เดิมเคยอยู่ในภาคอุตสาหกรรมจะไปทำอะไร คำตอบคือ ภาคบริการเป็นภาคเศรษฐกิจที่สามารถดูดซับแรงงานได้อย่างดีเยี่ยม

นอกจากนั้น ภาคบริการยังเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีการกระจายรายได้ที่ดี เพราะหากเป็นภาคอุตสาหกรรม รายได้ส่วนใหญ่อาจเข้ากระเป๋านายทุนหรือเจ้าของโรงงาน แตกต่างจากภาคบริการที่รายได้มีการกระจายตัวอย่างแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการสร้างชนชั้นกลางใหม่ของจีน และจะย้อนกลับมาตอบโจทย์การส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศเพื่อทดแทนการส่งออก

พูดง่ายๆ คือ ภาคบริการเป็นแหล่งจ้างงานทดแทนงานในภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันภาคบริการยังช่วยสร้างผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นกลางใหม่มหาศาล ทั้งหมดช่วยตอบโจทย์การปรับพอร์ตเศรษฐกิจจีนที่ต้องการยืนบนลำแข้งของตลาดภายในประเทศและการจ้างงานภายในประเทศ ลดการพึ่งพิงการลงทุนจากต่างชาติและลดการพึ่งพิงภาคการส่งออกลง

เทรนด์ที่สอง การสำรวจในครั้งนี้ของสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน พบว่า เศรษฐกิจจีนในภาคกลางและภาคตะวันตกมีความคึกคักมากขึ้นและมีสัญญาณการเติบโตที่ดี สอดคล้องกับทิศทางการปรับพอร์ตเศรษฐกิจจีน เพื่อเพิ่มสัดส่วนของเศรษฐกิจภาคกลางและภาคตะวันตก เปลี่ยนจากเดิมที่หัวใจและแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจจีนอยู่ที่ภาคตะวันออกเป็นหลัก

สมัยก่อน เวลาคนจีนพูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ นอกจากปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน และความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบทแล้ว ปัญหาสำคัญคือความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาค นั่นก็คือ ภาคตะวันออกที่เป็นเมืองท่าติดทะเลได้เริ่มเปิดรับการลงทุนและเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจก่อนพื้นที่ในภาคตะวันตกและตอนในของประเทศ ทำให้พื้นที่ในภาคตะวันออกมีความเจริญทางเศรษฐกิจเหนือกว่าพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตกอย่างชัดเจน

แต่จากสถิติล่าสุด พบว่า สัดส่วนของจำนวนแรงงานและจำนวนบริษัทในภาคกลางและภาคตะวันตกปรับสูงขึ้น แน่นอนว่าภาคตะวันออกของจีนยังคงเป็นพื้นที่ที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจสูงสุดและเป็นหลักให้กับการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน แต่ชัดเจนว่า เริ่มมีบริษัทและการจ้างงานจำนวนมากที่ย้ายฐานไปที่ภาคกลางและภาคตะวันตก ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างภูมิภาคลดลง

เทรนด์ที่สาม บริษัทนิติบุคคลคนเดียวมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศจีน จากการสำรวจล่าสุด มีจำนวนบริษัทนิติบุคคลคนเดียวในจีน 6 ล้านบริษัท ถือว่าเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนถึง 2 เท่า ทางการจีนอธิบายว่า ในสมัยก่อน ผู้ประกอบการมักเลือกจดทะเบียนบริษัทนิติบุคคลที่มีผู้ร่วมจัดตั้งและมีทีมงานหลายคน เพราะการมีหลายคนช่วยกันและมีทีมงานทำให้มีการประหยัดต่อขนาด (Economy of scale) และช่วยลดต้นทุนธุรกรรมในการดำเนินธุรกิจที่ต้องมีขั้นตอนซับซ้อน

แต่ในยุคปัจจุบัน ต้นทุนธุรกรรมลดลงไปมาก การทำธุรกิจสะดวกมากขึ้น ไม่ซับซ้อน เพราะการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจอินเตอร์เน็ต เช่น แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง เมื่อเปรียบเทียบแล้ว บริษัทนิติบุคคลคนเดียวมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการถูกกว่าบริษัทแบบปกติทั่วไป ทำง่าย คล่องตัว ตอนนี้มีการคาดการณ์ว่า พัฒนาการของเทคโนโลยี 5G และการเข้าสู่ยุค Internet of things จะยิ่งเป็นโอกาสมหาศาลให้กับผู้ประกอบการรายเดี่ยวและรายย่อยของจีน เรียกว่าจีนกำลังเปลี่ยนจากยุคแรงงานในโรงงาน มาสู่ยุคพนักงานในบริษัท และกำลังปรับเข้าสู่ยุคเถ้าแก่น้อยอย่างรวดเร็ว

เทรนด์สุดท้าย คือ การปรับโครงสร้างโดยการยกระดับเทคโนโลยี จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน พบว่า งบของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมไฮเทคที่ลงทุนกับการวิจัยและพัฒนา (R&D) ปรับสูงขึ้นถึง 75% โดยมีการยื่นขอจดสิทธิบัตรใหม่ถึง 138,000 คำร้อง เติบโตจากการสำรวจครั้งก่อนถึง 85.8%

จะเห็นครับว่า จีนได้เดินหน้าปรับพอร์ตเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง เข้าทำนองต้องรีบปรับตัวเองก่อนที่จะถูกใครมากดดันให้ต้องปรับ เมื่อหันกลับมามองไทย ผมคิดว่าคำถามข้างต้นของผู้ใหญ่ที่ผมเคารพนั้นสำคัญมาก คือ เราได้เริ่มคิดถึงการปรับพอร์ตเศรษฐกิจของประเทศบ้างไหมครับ?

หรือแม้เราจะถูกแรงกดดันรอบด้านจากภายในและภายนอก แต่เราก็ยังยืนหยัดจะคงโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดิม
โพสต์โพสต์