วิถีของอาชีพ VI (1)/วีระพงษ์ ธัม

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1908
ผู้ติดตาม: 325

วิถีของอาชีพ VI (1)/วีระพงษ์ ธัม

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    วิถีชีวิต (Lifestyle) เป็นคำที่เริ่มได้ยินบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการดำเนินชีวิตของคนในปัจจุบัน ไม่ใช่สูตรสำเร็จเหมือนแต่ก่อน วิถีความสำเร็จพิมพ์นิยมที่ว่าต้องเรียนให้เก่ง ทำงานบริษัทดี ๆ สร้างฐานะให้มั่นคง มีครอบครัวที่อบอุ่น  ลูก ๆ เติบโตมา ก็เรียนจบมหาวิทยาลัยดีเหมือนกับรุ่นพ่อคงเป็นแค่ทางเลือกหนึ่งของวิถีชีวิตสมัยใหม่เท่านั้น 

    เพราะในยุคหลัง ๆ ผมเริ่มสังเกตว่าวิถีชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิม รวมไปถึงมีแบบฉบับที่แตกต่างกันมากขึ้น เพราะรูปแบบของการดำเนินชีวิต ทัศนคติ มุมมองต่อโลก การให้คุณค่าของแต่ละคนไม่เท่ากัน ด้วยวิถีชีวิตที่แตกต่าง ทำให้ผู้คน “เลือก” อาชีพแตกต่างกันมากขึ้นเช่นเดียวกัน เช่น คนเลือกจะทำงานฟรีแลนซ์หรืองานอิสระมากขึ้น เพราะต้องการเวลาในชีวิต ต้องการใช้ชีวิตในสิ่งที่อยากจะเป็น ไม่ใช่ตามสังคมจารีตประเพณี คนรุ่นใหม่ค้นพบว่าอันที่จริงไม่ว่าจะเป็นบทบาทไหนในสังคม อาชีพแต่ละอย่างก็มีคุณค่าและมี “โอกาส” ต่างจากแต่ก่อนที่ค่อนข้างดูถูกบางสาขาอาชีพ และยกย่องบางสาขาอาชีพมากเป็นพิเศษ

    อย่างไรก็ดี วิถีของคนรุ่นใหม่ไม่ต้องการนับ 1-2-3 อย่างการทำงาน 30 ปีไต่เต้าขึ้นไปสู่ตำแหน่งบริหาร และรับเงินเกษียณอาจจะเป็นวิถีในอดีต พวกเขาอยากนับ “ข้าม” ตัวเลขที่ไม่ต้องการหรือหาทางลัด ตัวอย่างเรื่องความต้องการรวยเร็วก็เป็นกระแสนี้ หลาย ๆ ปีให้หลัง ถนนทุกสายจึงมุ่งหาเส้นทางลัดสู่อิสรภาพทางการเงิน “การรวยเร็วจากการเล่นหุ้น” เป็นตัวเลือกหนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็นคำตอบที่ผิดจากโจทย์ที่ผิด 

    ผมจึงลองย้อนวิถีของอาชีพ VI ในมุมที่ผมเห็นมากกว่าสิบปีที่ผ่านมาว่า รวมไปถึงจากการอ่านชีวประวัติของนักลงทุนระดับโลก ว่าวิถี VI แต่ละวิถีเป็นอย่างไรบ้าง แต่ต้องบอกก่อนว่า วิถีของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน และอาจจะผสมผสานมากกว่าหนึ่งวิถีทาง และบอกไม่ได้ว่า วิถีไหนจะดีกว่ากัน เพราะมันคือ “เส้นทางชีวิต” ซึ่งคนแต่ละคนมีปัจจัยต่างกัน จึงให้คุณค่า และเป้าหมายแตกต่างกัน 

    วิถี VI แรกสุด เป็นวิถีแห่งการลงทุนอย่างแท้จริง ใครเคยอ่านหนังสือชีวประวัติ Buffett โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ ก็จะเป็นภาพลักษณะเดียวกัน คือเก็บหอมรอมริบทุกบาททุกสตางค์ เพื่อมา “ลงทุน” เรียกได้ว่าประหยัดอดออม ความฟุ่มเฟือยเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับ VI วิถีนี้ เพราะพวกเขารู้ว่าเงินทุกบาทในวันนี้มีมูลค่ามหาศาลในวันข้างหน้า เพราะมุ่งเน้นหา “ผลตอบแทน” ในการลงทุนเป็นหลักใหญ่ ผมจึงขอตั้งชื่อวิถีนี้ว่า “วิถีมั่งคั่ง” 

    นักลงทุน VI ที่อยู่ในวิถีมั่งคั่งนี้ กิจกรรมหลักจะเป็นการเน้นหาหุ้นตัวใหม่ ๆ ฟัง Company visit ถ้าไปพบเพื่อน ๆ ก็มักจะมีทำ Presentation เพื่อแชร์ข้อมูล แนวคิดของหุ้นแต่ละตัวให้ฟังกัน เข้าฟังสัมมนา อ่านหนังสือการลงทุนอย่างเข้มข้น เพื่อค้นหาหุ้นที่มี “ส่วนลด” หรือหุ้นที่ราคาถูกกว่ามูลค่าของมัน จุดเด่นที่ชัดเจนที่สุดอีกจุดหนึ่งคือ “ความถี่ในการเปิดดู Streaming เพื่อเช็คราคาหุ้น” วิถีนี้อาจจะเปิดหลาย ๆ ครั้งต่อวัน รวมไปถึงความกระตือรือร้นในการศึกษาหุ้นใหม่ ๆ ไม่ว่าจะ IPO หรือหุ้นที่ยังไม่รู้จัก และยังคงประหยัดอดออม ใช้จ่ายเงินต่ำกว่า “ความมั่งคั่ง” ที่ตัวเองมีอย่างต่อเนื่อง คนที่อยู่ในวิถีนี้ได้ยาวนานอย่างมั่นคงที่สุด ผมเห็นแค่คนเดียวคือ Warren Buffett

    วิถี VI ที่สอง คือวิถีอิสระ วิถีนี้การมุ่งเน้น “ผลตอบแทน” อาจจะน้อยลงไปกว่าวิถีมั่งคั่ง แต่แลกมาซึ่งอิสระในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของเวลา กิจกรรมการลงทุนของวิถีนี้ อาจจะเป็นแค่ “กิจกรรมเสริม” เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาวเพื่อการเกษียณที่ดีกว่า หรืออาจจะลด “ความมุ่งมั่น” เรื่องการสร้างผลตอบแทนลดลง เพราะมีกิจกรรมใหม่ ๆ ที่ดีกว่าเข้ามาในชีวิต

    นักลงทุน VI วิถีอิสระ อาจจะเน้นการลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุนหรือทำ DCA (Dollar Cost Average) ทุก ๆ เดือน ผ่านกิจกรรมออมหุ้น ซึ่งคนแรก ๆ ที่พูดถึงน่าจะเป็นคุณสุมาอี้ในบล๊อค Dekisugi.net หรืออาจจะซื้อหุ้นที่ยอดเยี่ยมในราคาที่เหมาะสม และถือไปเรื่อย ๆ ตราบที่กิจการยังเติบโตอยู่ เรียกได้ว่า VI กลุ่มนี้หาผลตอบแทนจากการเลือกกิจการที่ดีเป็นหลัก ส่วนการมุ่งเน้นหา “ส่วนลด” ของหุ้นนั้นเป็นปัจจัยรอง ดังนั้นพฤติกรรมของนักลงทุนกลุ่มนี้จะเปลี่ยนหุ้นไม่บ่อยนัก ซื้อแล้วจะถือยาวกว่าค่าเฉลี่ย VI วิถีอื่น ๆ สิ่งที่ VI กลุ่มนี้แลกมา คือ “ความอิสระ” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาระหน้าที่ ที่จะต้องขวนขวายหาหุ้นตลอดเวลา รวมไปถึงอิสระทางใจจากความกังวลในการลงทุนหุ้นตัวใหม่ ๆ  นักลงทุนกลุ่มนี้อาจจะไม่ดูหุ้นเลยทั้งสัปดาห์ หรืออาจจะเช็คราคาเฉพาะเมื่อตลาดหุ้นปิด แต่จุดสำคัญคือ VI วิถีอิสระ จะยังคงมี “เงิน” ลงทุนในหุ้นเกือบ 100% หรืออาจจะมีเงินสดเพราะรอหาซื้อหุ้นเท่านั้น 

    ติดตามตอนสองอีกสองสัปดาห์ครับ ระหว่างนี้ ผมขอฝาก “วิถี VI”  ทุกวันพฤหัสบดี 22.00-22.30 น. ซึ่งอยู่ในรายการ “มือใหม่ Turnpro” ทางช่อง Money Channel ถือเป็นรายการที่ 3 ของสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) ที่จะตอบโจทย์ว่า การมุ่งหน้าสู่ วิถี VI ที่ประสบความสำเร็จจะเป็นอย่างไรครับ
[/size]
ลูกหิน
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1217
ผู้ติดตาม: 1

Re: วิถีของอาชีพ VI (1)/วีระพงษ์ ธัม

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณมากครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
TinnakornPh
Verified User
โพสต์: 30
ผู้ติดตาม: 0

Re: วิถีของอาชีพ VI (1)/วีระพงษ์ ธัม

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอบคุณครับ รออ่านตอน 2 อยู่นะครับ
เราไม่ได้เลือกหุ้น หุ้นต่างหากที่มันเลือกเรา
BoatAttasit
Verified User
โพสต์: 168
ผู้ติดตาม: 0

Re: วิถีของอาชีพ VI (1)/วีระพงษ์ ธัม

โพสต์ที่ 4

โพสต์

วิถีVIเค้าต้องติดตามดูราคาหุ้นในstreamingบ่อยขนาดนั้นเลยหรอครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
RnD-VI
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 6557
ผู้ติดตาม: 637

Re: วิถีของอาชีพ VI (1)/วีระพงษ์ ธัม

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ขอบคุณมากครับพี่
วินัย + แผนการ + ลงรายละเอียด => ขุดหุ้น
ภาพประจำตัวสมาชิก
Linzhi
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 1526
ผู้ติดตาม: 232

Re: วิถีของอาชีพ VI (1)/วีระพงษ์ ธัม

โพสต์ที่ 6

โพสต์

BoatAttasit เขียน:วิถีVIเค้าต้องติดตามดูราคาหุ้นในstreamingบ่อยขนาดนั้นเลยหรอครับ
เพิ่มเติมว่า ส่วนมากจะเปิดหาโอกาสครับ เช่นวันที่ -138 จุดน่ะครับ
ถ้าไม่มีโอกาส ก็ดูเฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไรครับ เหมือนกับติด Facebook

แต่ Action จะน้อยกว่า trader มาก ๆ รวมถึงดูแล้วไม่รู้สึกประสีประสาด้วยครับ
แดงก็ดี เขียวก็ดี เหลืองก็ดี อะไรแบบนี้ครับ

ส่วนถ้าเปิดไม่บ่อย จะตกอยู่ในส่วนผสมของวิถีอื่น ๆ ต่อ ๆ มาครับ

ผมบอกผิดแย้งได้นะครับ อันนี้เป็นข้อสังเกตส่วนตัวเฉย ๆ :mrgreen:
ก้าวช้า ๆ และเชื่อในปาฎิหารย์ของหุ้นเปลี่ยนชีวิต
There is no secret ingredient. It's just you.
imaker
Verified User
โพสต์: 18
ผู้ติดตาม: 0

Re: วิถีของอาชีพ VI (1)/วีระพงษ์ ธัม

โพสต์ที่ 7

โพสต์

ขอบคุณครับ ทำให้ผมรู้ว่า เป็น วีไอ อิสระ 55
ภาพประจำตัวสมาชิก
pavilion
Verified User
โพสต์: 1726
ผู้ติดตาม: 0

Re: วิถีของอาชีพ VI (1)/วีระพงษ์ ธัม

โพสต์ที่ 8

โพสต์

วิถีวีไอ :?: ยังกะวิถีเจได
สุขสบาย
Verified User
โพสต์: 16
ผู้ติดตาม: 0

Re: วิถีของอาชีพ VI (1)/วีระพงษ์ ธัม

โพสต์ที่ 9

โพสต์

รอติดตามค่ะ
Seattle
Verified User
โพสต์: 1119
ผู้ติดตาม: 0

Re: วิถีของอาชีพ VI (1)/วีระพงษ์ ธัม

โพสต์ที่ 10

โพสต์

วิถีของอาชีพ VI (2)
Thursday, 12 February 2015

ต่อจากบทความที่แล้วเรื่องวิถีของอาชีพ VI สองอย่างแรก คือวิถีมั่งคั่ง และวิถีอิสระ ส่วนต่างสำคัญคือการ “แบ่งเวลา” และ “แบ่งความสนใจ” ต่อการลงทุนในหุ้นไปทำสิ่งอื่น ๆ โดยแลกกับผลตอบแทนที่ลดลง แต่แน่นอนว่าผู้ที่จะประสบความสำเร็จในวิถี VI ไม่ว่าจะวิถีไหนจะต้องมีองค์ประกอบเหมือนกัน คือความทุ่มเทในการอ่านข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และความเฉียบคม มีเหตุมีผลในการตัดสินใจ

ส่วนวิถี VI ที่สาม ซึ่งผมขอเรียกว่า “วิถียั่งยืน” ซึ่งวิถีนี้มุ่งเน้นเรื่องการสร้างความยั่งยืนในระยะยาวเป็นหลัก ผมสังเกตว่ามหาเศรษฐีมักจะอยู่ในวิถีนี้ คือจะไม่ถือหุ้นบริษัทใดบริษัทหนึ่งจำนวนมาก ๆ หรือมี Wealth อยู่แต่ในหุ้น 100% พวกเขาจะสร้างความสมดุลด้วยการกระจายพอร์ตโฟลิโอ แม้ว่าเศรษฐีจำนวนมากจะร่ำรวยจากหุ้น แต่สุดท้ายก็มักผ่องถ่ายออกไปสินทรัพย์อื่น ตัวอย่าง Family Business ระดับโลกของตระกูล Toyoda เจ้าของบริษัท Toyota ก็มีหุ้นที่ตระกูลถืออยู่เพียง 2% เท่านั้น พวกเขาแบ่งเอาเงินลงทุนจาก Toyota ไปลงทุนในทรัพย์สินอื่น ๆ และสาเหตุของการกระจายพอร์ตโฟลิโอ ไม่ใช่ด้วยเหตุผลเรื่องผลตอบแทนแต่เป็นเรื่อง “ความยั่งยืน” รวมไปถึงการลด “ความเสี่ยง” ที่ไม่จำเป็นออกไป

เราต้องระลึกอยู่เสมอว่าการลงทุนในหุ้น 100% เป็นสภาวะที่มีความเสี่ยงแฝงอยู่ไม่น้อย และต้องพึ่งพาความสามารถในการลงทุนเฉพาะบุคคลอีกด้วย เพราะส่วนสำคัญของการลงทุนในหุ้นคือการ “ติดตามดูแล” พอร์ต การออมหุ้นแบบ DCA โดยไม่มีการทบทวนเลย อาจจะเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้จริงในระยะยาว แม้ว่าจะเลือกหุ้นที่แข็งแรงมาก ๆ ก็ตาม เพราะหุ้นคือธุรกิจที่มีวงจรชีวิต มีเกิดและมีตายไป วิถียั่งยืนจึงเป็น “ระบบ” การวางรากฐานผู้สืบทอด หรือเพื่อเตรียมตัวเกษียณอายุ เป็นวิถีลงทุนเพื่อรักษา “กำลังซื้อ” ของเงินตัวเองไว้ อันที่จริงการลงทุนใน “สุขภาพตัวเอง” ก็อยู่ในวิถียั่งยืนเช่นเดียวกัน เพื่อมุ่งเน้นหากระแสเงินสดที่เหมาะสม โดยไม่คาดหวังการเติบโตเป็นปัจจัยต้น ๆ

วิถีนี้จะกระจายเงินออกจากหุ้น ไปลงทุนในสิ่งอื่น ๆ เช่น บ้าน ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ ของสะสม รูปวาด ทรัพย์สินเหล่านี้อาจจะสร้างผลตอบแทนได้ไม่เท่าหุ้นที่มีสถิติพิสูจน์แล้วว่าได้ผลตอบแทนระยะยาวเฉลี่ยได้ดีที่สุด แต่สินทรัพย์บางอย่าง ก็หาซื้อไม่ได้ถ้าเวลาผ่านไป เช่นที่ดินใจกลางเมือง อย่างที่ดินกลางกรุงลอนดอนก็เป็นของบารอนหรือมหาเศรษฐีในอดีต ใครจะมาซื้อใหม่ ก็สามารถได้เพียง “เช่า” หรือ “เซ้ง” ต่อเท่านั้น รวมไปถึงสินทรัพย์เหล่านี้ ก็มีความผันผวนน้อยกว่าหุ้นมาก ยกตัวอย่างราคาที่ดินดี ๆ ในประเทศไทย อาจจะมีแค่ไม่กี่ปีที่มีราคาลดลงมากกว่า 5-10% รวมไปถึงความสุขทางใจ ซึ่งอาจจะมีมูลค่ามากกว่าตัวเงิน และแน่นอนว่าการลงทุนทั้งหมด ต้องอยู่บนพื้นฐานของ VI คือต้องซื้อในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าเสมอ

วิถี VI ที่สี่ คือ วิถีคุณค่า นักลงทุนกลุ่มนี้จะเอาเวลามาสร้างคุณค่าอื่น ๆ “คืนกลับ” สู่สังคม ไม่ว่าจะไปทำงานการกุศลอย่างปีเตอร์ ลินซ์ หรือบริจาคเงินจำนวนมากอย่างบัฟเฟตต์ หรือใช้เวลาในการถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่นจนเกิดหนังสือลงทุนคลาสสิกหลาย ๆ เล่ม แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ทำไปเพื่อความสุขในด้านอื่น ๆ ซะมากกว่า “ตัวเงิน”

ผมติดตามนักลงทุน VI ไทยที่ประสบความสำเร็จหลายท่าน มีบทบาทในการสร้างวิถีคุณค่ามากมาย ไม่ว่าจะนำผลตอบแทนจากการลงทุนไปให้ผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า ให้ทุนการศึกษา บริจาคให้โรงพยาบาล หรือช่วยเหลืองานการกุศล หรือแม้แต่ทำงานที่คุณคิดว่ามันเป็นประโยชน์ต่อสังคม และนี่เป็นบทบาทสำคัญอย่างหนึ่งของสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) องค์กรไม่แสวงหากำไรที่พยายามสร้างวิถีคุณค่าคืนแก่สังคมเช่นเดียวกัน

อันที่จริงการดูแลสังคมก็ทำให้สังคมดูแลเราในบั้นปลาย ผมเดินทางไปประเทศหลายประเทศที่มีช่องว่างทางสังคมสูง ๆ คฤหาสน์หลังโต แต่มีรั้วสูง มีลวดไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งไม่น่าอยู่เลยแม้ว่าคุณจะมีความมั่งคั่งแค่ไหน กลับกันสังคมที่มีความมั่งคั่งกระจายตัวมาก ๆ อย่างสแกนดิเนเวีย บ้านหลังเท่า ๆ กัน แต่อบอุ่น ปลอดภัย น่าอยู่กว่ากันมาก วิถีคุณค่าอาจจะเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ ไม่ต้องรอให้เราสำเร็จใหญ่โตก่อน เพราะจุดเล็ก ๆ มันสร้างคุณค่า “ทบต้น” ได้เหมือนผลตอบแทนจากการลงทุนเช่นเดียวกัน

ข้อสรุปของผมคือ วิถี VI ในยุคนี้ ผมคิดว่าเป็นการหาจุดดีสมดุลที่สุดระหว่าง “ผลตอบแทน” “อิสรภาพ” “ความยั่งยืน” และ “คุณค่า” ทั้งสี่วิถีไม่ควรวัดกันที่ “ขนาดพอร์ต” เพราะคนที่พอร์ตเล็ก หรือพอร์ตใหญ่ก็สามารถมีวิถีทางเป็นของตัวเองได้เหมือนกัน แต่อาจจะเป็นเพราะสังคมให้ความสำคัญกับขนาดพอร์ตจึงทำให้วิถีมั่งคั่งเป็น” กระแสหลัก” ในปัจจุบัน แต่อย่าลืมว่า “ความรวย” เป็น นามธรรมที่จับต้องยาก เป็นนิยามแห่งการเปรียบเทียบโดยไม่มีความหมายในตัวเอง คุณรวยเสมอถ้าเปรียบเทียบกับคนที่จนกว่า และคุณจนเสมอเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่รวยกว่า นักลงทุน VI ที่ประสบความสำเร็จไม่ว่าจะด้านการลงทุนหรือการใช้ชีวิตควรมีความคิดเป็นอิสระจากสังคม เพราะเส้นทางวิชาชีพ VI เป็นเส้นทางหนึ่งที่คุณเลือกเดินทางเองได้ ตามวิถีชีวิตที่คุณอยากได้ สังคมที่คุณอยากอยู่ โดยไม่จำเป็นต้องเอากระแส หรือความนิยมในยุคใดยุคหนึ่งมาเป็นตัวกำหนดเส้นทางวิถีชีวิต VI ของคุณครับ

Posted by 10000Li at 10:01 AM in คิด วิเคราะห์ แยกแยะ
ต้น.เจียงฮาย
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 44
ผู้ติดตาม: 2

Re: วิถีของอาชีพ VI (1)/วีระพงษ์ ธัม

โพสต์ที่ 11

โพสต์

ขอบคุณมากๆคับ :D :D :D
โพสต์โพสต์