ความเสี่ยงของหุ้น PE สูง/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1892
ผู้ติดตาม: 313

ความเสี่ยงของหุ้น PE สูง/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

คนที่ชอบลงทุนในหุ้นที่มีค่า PE “สูงลิ่ว” ซึ่งก็มักจะเป็นหุ้นตัวเล็กที่มี Free Float หรือมีหุ้นหมุนเวียนในตลาดน้อยนั้น เขาควรจะเข้าใจถึง “ความเสี่ยง” ของหุ้นว่ามีมากกว่าปกติ ยิ่ง PE สูงเท่าไร ความเสี่ยงก็มักจะมากขึ้นไปเท่านั้น จริงอยู่ เขาอาจจะได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าปกติในบางช่วง แต่ในบางช่วงหุ้นก็อาจจะตกจนแทบจะเป็น “หายนะ” มาดูกันว่าเพราะอะไร

การที่หุ้นมีค่า PE สูงนั้นก็คือ ราคาของหุ้นเมื่อเทียบกับผลประกอบการปีล่าสุดนั้นสูงกว่าปกติ ตัวอย่างเช่น ค่าเฉลี่ยของ PE ของหุ้นทุกตัวหรือค่า PE ของตลาดเท่ากับ 20 เท่า หุ้นที่มี PE สูงก็อาจจะมีค่า PE 30-40 เท่าขึ้นไป หุ้นที่มีค่า PE เกิน 50 เท่าในตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันก็มีอยู่มาก บางตัวสูงเป็น 100 เท่า ทั้ง ๆ ที่บริษัทไม่ได้มีปัญหาจากการดำเนินงาน “ชั่วคราว” ซึ่งในกรณีแบบนี้เรามักไม่วัดความถูกแพงด้วยค่า PE อยู่แล้ว

เหตุที่หุ้นมีค่า PE สูงมากนั้น เป็นเพราะคนมีความคิดหรือความคาดหวังว่า กำไรของบริษัทจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว “ในอนาคต” ดังนั้นพวกเขาจึงเข้ามาซื้อหุ้นซึ่งช่วยผลักดันให้ราคาหุ้นขึ้นไปโดยที่กำไรต่อหุ้นยังต่ำอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น หุ้นที่มี PE สูงจึงเป็นหุ้นของบริษัทที่นักลงทุนคาดว่าจะเป็นหุ้น “โตเร็ว” หรือหุ้น Growth ตรงกันข้าม บริษัทที่นักลงทุนคิดว่าจะ “โตช้า” นั้น ก็มักจะไม่เป็นที่สนใจซึ่งทำให้มีคนซื้อน้อยและทำให้ราคาหุ้นไม่สูงเมื่อเทียบกับกำไรต่อหุ้น หรือเป็นหุ้นที่มี PE ต่ำ กลายเป็นหุ้น “คุณค่า” หรือหุ้น Value ในความหมายทางวิชาการ

หุ้นที่มีค่า PE สูงมาก ตัวอย่างเช่นบริษัท A มีกำไรปีนี้เท่ากับ 0.1 บาทต่อหุ้นและราคาหุ้นเท่ากับ5 บาทต่อหุ้น ซึ่งเท่ากับมีค่า PE 50 เท่านั้น บางทีก็ให้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมถ้าปรากฏว่าในปีหน้ากำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น 50% เป็น 0.15 บาทต่อหุ้นและค่า PE ก็ยังเท่าเดิมคือ 50 เท่า ราคาหุ้นก็จะเป็น 50 คูณ 0.15 เท่ากับ 7.5 บาท หรือกำไร 50% ในหนึ่งปี และถ้าปีหน้าคนก็ยังคาดว่าบริษัทจะโตเร็วต่อไปอีกมาก ค่า PE ก็อาจจะปรับขึ้นไปด้วยเป็น 75 เท่า ราคาหุ้นก็จะขึ้นไปเป็น 11.25 บาท (75 คูณ 0.15) หรือกำไร 125% ในเวลา 1 ปี และนั่นก็คือสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นถ้าทุกอย่างเป็นไปตามคาดและนักลงทุนยังมีความคิดต่อหุ้นในทางที่ดีมาก ๆ ซึ่งส่งผลให้มีการปรับค่า PE ให้สูงขึ้นอีกจากที่สูงมากอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม หากไม่เป็นไปตามที่คาด กำไรต่อหุ้นกลับลดลง 50% จาก 0.1 บาทเหลือเพียง 0.05 บาท ซึ่งทำให้นักลงทุนผิดหวัง “อย่างแรง” และเทขายหุ้นซึ่งส่งผลให้ราคาลดลงตามผลกำไรโดยที่ค่า PE ก็ยังคงเดิมที่ 50 เท่า ราคาหุ้นก็จะเหลือเพียง 2.5 บาท (50คูณ0.05) หรือลดลง 50% ภายในปีเดียว แต่ในกรณีที่นักลงทุนเริ่มเปลี่ยนมุมมองต่อบริษัทด้วย เช่น พวกเขาอาจจะคิดว่าอนาคตต่อไปของบริษัทนั้นคงไม่เติบโตเร็วตามที่คาด ค่า PE ของหุ้นก็จะเปลี่ยนไปด้วยจาก PE 50 เท่าก็อาจจะเหลือเพียง 25 เท่า ราคาหุ้นก็จะตกลงมาเหลือเพียง 1.25 บาทต่อหุ้น (25 คูณ 0.05) คิดแล้วจะเป็นการขาดทุนถึง 75% ในเวลาปีเดียว และนี่ก็คือความเสี่ยงที่สำคัญและมักเกิดขึ้นเสมอกับหุ้นที่มีค่า PE สูงลิ่วและนักลงทุนมีความคาดหวังที่สูงมากกับตัวบริษัท

มองในภาพใหญ่และจากบทเรียนในประวัติศาสตร์จากการศึกษาของนักวิชาการในตลาดหุ้นสหรัฐนั้นพบว่า โดยรวมแล้ว การลงทุนในหุ้น “โตเร็ว” และมีค่า PE สูง โดยเฉพาะที่สูงมากเช่นที่อยู่ในอันดับ 10% ของหุ้นที่มีค่า PE สูงสุดในตลาดนั้น ผลตอบแทนที่ได้ในระยะยาวน่าผิดหวังมาก เหตุผลก็เพราะว่าความคาดหวังว่ากำไรของบริษัทในกลุ่มนี้จะเติบโตเร็วมากตามค่า PE นั้น ไม่จริง! มันอาจจะโตเร็วกว่าค่าเฉลี่ยบ้างแต่ก็อาจจะเพียงเล็กน้อย ซึ่งนั่นทำให้มันสูญเสียสถานะของการโตเร็วและกลายเป็นหุ้นธรรมดาที่นักลงทุนต้องปรับค่า PE ลง และนั่นทำให้หุ้นที่เรียกว่าหุ้น “ฟู่ฟ่า” หรือ Glamorous Stock ให้ผลตอบแทนที่แย่มากเมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่มอื่น ๆ เช่นหุ้น Value ที่มี PE ต่ำ

ในตลาดหุ้นไทยโดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่ต้นปี 2009 หลังวิกฤติซับไพร์ม จนถึงสิ้นปี 2014 ซึ่งเป็นช่วง “ปีทองของหุ้นตัวเล็ก” นั้น หุ้นของบริษัทขนาดเล็กจำนวนมากถูกมองว่าเป็นหุ้นโตเร็วมาก นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากรวมถึงเหล่า “VI” รุ่นใหม่ ได้เข้ามาซื้อหุ้นดันราคาให้หุ้นเหล่านั้นปรับตัวขึ้นมหาศาลในเวลาอันสั้น ดัชนีของหุ้น MAI ที่เป็นตัวแทนของหุ้นตัวเล็กปรับตัวขึ้นเป็นกว่า 4 เท่าในเวลา 6 ปี หุ้นตัวเล็กหลายตัวกลายเป็นหุ้น “10 เด้ง” ในเวลาอันสั้น ค่า PE ของตลาด MAI ปรับตัวขึ้นจาก 7-8 เท่าเป็น 70-80 เท่า ในเวลา 6 ปี ตลาดหุ้นตัวเล็กกลายเป็น “ฟองสบู่”

ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ดัชนีหุ้น MAI ก็เริ่มปรับตัวลงมามากกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ปี 2015 ดัชนี MAI ติดลบถึง 25% ในขณะที่ดัชนีตลาดลดลงเพียง 14% และตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึง วันที่ 27 พฤษภาคม 59 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาแล้วประมาณ 10% ในขณะที่ดัชนีตลาด MAI เพิ่มขึ้นเพียง 1% แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่า “ฟองสบู่” ของหุ้นตัวเล็กได้แตกลง มันอาจจะแค่ “เริ่มต้น” เพราะราคาหุ้นตัวเล็กวัดจากค่า PE ก็ยังสูงมากถึง 63 เท่าซึ่งแสดงให้เห็นว่านักลงทุนยังมองว่าผลประกอบการของบริษัทขนาดเล็กยังน่าจะเติบโตดีมาก พูดง่าย ๆ ความคาดหวังหรือ “ความฝัน” ยังเต็มเปี่ยมแม้ว่าดัชนีจะปรับตัวลงมามาก อย่างไรก็ตาม ตัวเลขกำไรของบริษัทในตลาด MAI ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้นกลับไม่สนับสนุนเลย นอกจากจะไม่ได้กำไรมากแล้ว ตัวเลขกำไรของบริษัทกลับลดลงตลอดมาไม่น้อยกว่า 4 ปีแล้ว ในภาพใหญ่นั้น ความเชื่อมั่นในหุ้นตัวเล็กยังยืนหยัดอยู่ได้—หรือไม่ก็ “ถูกประคอง” อยู่ได้ แต่ถ้ามองในภาพเล็กที่เป็นหุ้นรายตัวนั้น ดูเหมือนว่าจะเริ่มมีหุ้นที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนกำลังสลายลงไปเรื่อย ๆ หุ้นที่กำลังเป็น “หายนะ” เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ความเสี่ยงของหุ้นที่มีค่า PE สูงมากซึ่งส่วนมากก็มักจะเป็นหุ้นตัวเล็กและ/หรือมีฟรีโฟลทต่ำนั้นมีมากมาย ที่ผมอยากพูดถึงก็คือเรื่องของ “Story” หรือเรื่องราวของธุรกิจใหม่ที่จะสร้างกำไรแบบ “ก้าวกระโดด” ใน “ปีหน้า” ของบริษัทนั้น ไม่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นน้อยกว่าคาดมาก เพราะโครงการต้องเลื่อนไปและมีความไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ ในปีแรกบางทีคนก็ยังยอมรับได้ แต่ถ้าถูกเลื่อนออกไปเรื่อย ๆ จนถึงวันหนึ่งนักลงทุนขาดความมั่นใจพวกเขาก็จะเริ่มเทขายหุ้นซึ่งทำให้หุ้นตกอย่างแรง และเมื่อหุ้นตกแรง นักลงทุนรายอื่นก็จะเริ่มตกใจและเริ่มเทขายซึ่งก็จะทำให้หุ้นตกลงไปอีก กระบวนการที่เป็น “ลูกโซ่” นี้ ทำให้หุ้นตกลงมาจนแทบเป็น “หายนะ” ได้ และนี่ก็เป็นกระบวนการแบบเดียวกับตอนที่หุ้นขึ้นเพราะคนเชื่อมั่นและมีความมั่นใจที่เข้าไปซื้อหุ้นซึ่งทำให้หุ้นปรับตัวขึ้น พอหุ้นปรับตัวขึ้นก็ดึงดูดนักลงทุนรายอื่นเข้ามาซื้อซึ่งก็ทำให้หุ้นขึ้นไปอีกจนกลายเป็น “ฟองสบู่”

ความเสี่ยงของหุ้น PE สูงนั้นบางทีก็ไม่ได้เกิดจากเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ใหม่แต่เป็นเรื่องที่อยู่ ๆ ผลการดำเนินงานของบริษัทก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจจะเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจหรือการ “บูม” ขึ้นของอุตสาหกรรม หรือจากการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ของบริษัท การเติบโตนั้นน่าประทับใจมากจนทำให้นักลงทุนเชื่อว่าบริษัทกำลังกลายเป็นกิจการที่โตเร็วมากแบบก้าวกระโดดและดังนั้นจึงเข้ามาซื้อทำให้หุ้นขึ้น หลังจากนั้นเรื่องราวดี ๆ ทั้งหลายก็ตามมา ราคาหุ้นก็ขึ้นไปจนมีค่า PE สูงมากกลายเป็น “ฟองสบู่” ผมคงไม่ต้องบรรยายต่อว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่อยากจะเตือนว่า “อนาคต” นั้นไม่แน่นอน หากจะเข้าลงทุนในหุ้นที่มี PE สูงมาก ๆ ลองดูว่าถ้าบริษัทสามารถทำตามที่คาดได้เราจะได้อะไร แต่หากไม่เป็นอย่างที่หวัง หุ้นจะไปที่จุดไหน ผมเองต้องสารภาพว่าไม่กล้าที่จะลงทุนในหุ้นที่มีค่า PE สูงลิ่ว เพราะในชีวิตการลงทุนผมนั้นสิ่งที่ผมกลัวที่สุดก็คือ “หายนะ”
ภาพประจำตัวสมาชิก
neuhiran
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 817
ผู้ติดตาม: 10

Re: ความเสี่ยงของหุ้น PE สูง/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณครับ
nut776
Verified User
โพสต์: 3350
ผู้ติดตาม: 4

Re: ความเสี่ยงของหุ้น PE สูง/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

pe เป็นอะไรที่เหมือนง่ายแต่แฝงไว้ด้วยความลึกซึ้งมากมาย

จริงๆอาจจะต้องตีความตาม ข้อมูลอื่นร่วมด้วย หรือ ต้องดูไดนามิค ของมันอีก
ไหนจะเรื่องที่พูดไม่ตรงกัน ว่า fw or trailing

ถ้าถามผม ผมคิดว่า มันแบ่ง เป็น range อะคับ พูดถึง traing นะ

pe 5-10 ผมว่า ถูกจริง แต่ถูกแบบ ผิดปกติ sustain หรือจะdynamic ไปเป็น pe แพงหรือไม่คงต้องไปดูข้อมูล ประกอบ แต่ถือว่า น่าสนใจในแง่ หาทั้ง cap gain หรือ ปันผลโตขึ้น

pe 15-25 ผมมองว่า สมเหตุสมผล กับหุ้น growth ที่มี premium
ยังน่าสนใจ ในแง่ long term growth in estabish firmและยังใช้ แนวคิด peg ได้

pe เกิน 30 -60 คือแพงมาก แบบหาความสนใจไม่ได้
และส่วนตัวผมเชื่อว่า ใช้ แนวคิด peg ไม่ได้แล้ว อธิบายยาก
หุ้นที่ pe เกิน 25 ใช้ peg เหมือนการตะแบง ไม่มีบริษัทใดที่โต 25% ได้นาน
peg น่าจะเป็นแนวคิดที่ใช้ในtime frame พอสมควรเช่นเกิน 5 ปี
ซึ่งถ้าเป็นแค่กรอบ 5 ปี ใช้อื่นวิธีดีกว่า peg ที่ค่อนข้างหยาบ
ดังนั้นกลุ่มนี้ผมว่า น่าสนใจน้อย จนไม่น่าสนใจ ไม่ว่าจะ cap gain หรือ longterm growth


pe หลักร้อยหรือพัน ผมคิดว่าต้องดูdynamic มันก่อน
ถ้ามาจาก n/a >> pe หลักร้อย หลักพัน
ผมว่าน่าสนใจ หร้ือน่าสนใจมาก เพราะว่า มันแสดงว่า
บ.ใดๆนั้นเหมือนเริ่มจะขึ้นจากหลุมแล้ว
การหาข้อมูล ในการ sustain ในการ turn around จะน่าสนใจมาก


สรุป คือ pe สูง ผมจะไม่ด่วนสรุป อะคับ
คงต้องดู range ก่อน แล้วค่อยดู dynamic มัน
ยิ่งพวก pe เป็นร้อย เป็นพัน นี่ผมจะสนใจเป็นพิเศษ



ปล แวะมาบ่น อะไรไม่รู้
ขอบคุณบทความคับ
ไร้สาระ กดลบได้คับ
show me money.
โพสต์โพสต์