หลักการเลือกหุ้นของ Buffett/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1892
ผู้ติดตาม: 313

หลักการเลือกหุ้นของ Buffett/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

การเลือกหุ้นลงทุนของ วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้นได้รับการติดตามและศึกษามากมาย หนังสือเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมีมากจนนับไม่ถ้วน แต่ละเล่มก็พยายามที่จะเขียนให้มีความ “ซับซ้อน” และยากที่จะปฎิบัติเพื่อที่จะทำให้รู้สึกว่าคนธรรมดาจะเลียนแบบได้ยาก มีแต่คนที่มีความสามารถแบบ วอเร็น บัฟเฟตต์ เท่านั้นที่จะทำได้หรือวิเคราะห์ได้ถูกต้องว่าหุ้นหรือบริษัทไหนที่ดีน่าลงทุน เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ถ้าบอกว่าหลักการลงทุนของบัฟเฟตต์นั้นง่ายและธรรมดามาก ใครจะอยากซื้อหนังสือมาอ่าน นอกจากนั้น น้อยคนจะเชื่อว่าคนจะประสบความสำเร็จจากการลงทุนได้ด้วยสิ่งที่ “ทำได้ง่าย ๆ” ไม่อย่างนั้นคนก็คงจะ “รวยกันไปหมด” ซึ่งเป็นไปไม่ได้! แต่ทั้งหมดนั้นสำหรับผมแล้วมันก็คงจะเป็นเรื่องที่คล้าย ๆ กับหนังสือเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพทั้งหลายที่มักจะพูดถึงวิธีการที่ยุ่งยากซับซ้อนซึ่งมักรวมถึงการปฏิบัติตนด้วยวิธีการต่าง ๆ การกินอาหารและอาหารเสริม บางทีก็พูดถึงฮอร์โมนและเครื่องมือ “มหัศจรรย์” ต่าง ๆ ที่จะช่วยทำให้สุขภาพดีขึ้น ทั้ง ๆ ที่ความจริงอาจจะเป็นว่าหลักการดูแลสุขภาพที่ดีที่สุดอาจจะง่ายมากและมีเพียง 3-4 เรื่องที่ต้องทำ เช่น กินอาหารครบหมู่ ออกกำลังพอประมาณ นอนให้พอ และอย่าเครียด เป็นต้น

จากการติดตามบัฟเฟตต์มานานรวมถึงอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับบัฟเฟตต์จำนวนมากผมกลับพบว่าที่จริงแล้วหลักการเลือกหุ้นลงทุนของบัฟเฟตต์นั้น “ธรรมดาและง่ายมาก” มันคล้าย ๆ กับการรักษาสุขภาพ ถ้าเราทำได้ 3-4 เรื่องอย่างที่กล่าว เราก็จะมีสุขภาพที่ดีเยี่ยมได้แล้ว ไม่ต้องไปหาสูตรอะไรที่ดู “ขลัง” หรือทำได้ยากเกินความสามารถ สิ่งที่ต้องทำดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องของ “วินัย” และการปรับใจหรือทัศนะคติมากกว่า มาดูกันว่าอะไรคือหลักการสำคัญที่บัฟเฟตต์ใช้จริง ๆ เกือบตลอดชีวิตการลงทุนของเขา ว่าที่จริงเขา “ประกาศ” มันอย่างเป็นทางการด้วยว่านี่คือสิ่งที่เขาต้องการจากหุ้นหรือกิจการที่เขาจะลงทุน และมันมีแค่ 4-5 ข้อเท่านั้น

ข้อแรกก็คือ มันต้องเป็นธุรกิจธรรมดา ๆ ที่เราเข้าใจ และถ้ามันมีเรื่องเกี่ยวข้องกับเท็คโนโลยีมาก ๆ บัฟเฟตต์บอกว่าเขาจะไม่เข้าใจ ข้อนี้ ถ้าดูจากกิจการและหุ้นที่บัฟเฟตต์ลงทุนมานานหลายสิบปีก็จะพบว่าหุ้นส่วนใหญ่ที่เขาลงทุนนั้นมักจะเป็นกิจการธรรมดา ๆ จริง เช่น กิจการเกี่ยวกับอาหาร เช่น น้ำอัดลม ช็อกโกแล็ต ซอสมะเขือเทศ กิจการเครื่องใช้เช่นเฟอร์นิเจอร์ เครื่องแต่งตัวเช่น เครื่องประดับเพชร รองเท้า ธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ กิจการเดินทางเช่น รถไฟ เครื่องบิน ผู้ให้บริการเกี่ยวกับการงานคอมพิวเตอร์ของสำนักงานและบริษัท และที่เริ่มมากในระยะหลังก็คือพลังงานและพลังงานทดแทน เป็นต้น และแน่นอนก็คือ ธุรกิจประกันภัยที่เป็นฐานดั้งเดิมของบัฟเฟตต์

ประเด็นสำหรับนักลงทุนก็คือ บ่อยครั้งเรามักลงทุนซื้อหุ้นที่เราไม่เข้าใจธุรกิจอย่างแท้จริง คนจำนวนมากลงทุนซื้อหุ้นปิโตรเคมีทั้ง ๆ ที่เราไม่รู้จักแม้แต่ผลิตภัณฑ์ที่เขาผลิต เราซื้อหุ้นอิเล็คโทรนิกส์ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่ามันเอาไปทำอะไร เรามักซื้อเพราะว่าหุ้นกำลังปรับตัวขึ้นแรงและมีคนเชียร์ว่ามันจะเติบโตขึ้นอีกมากในปีนี้ บัฟเฟตต์บอกว่าเราต้องมี Circle of Competence หรือความรอบรู้ของเราในแต่ละธุรกิจหรืออุตสาหกรรม เราไม่จำเป็นต้องรู้มากมายไปหมดในอุตสาหกรรมจำนวนมาก แต่เราต้องรู้ว่าขีดความรอบรู้ของเรามีแค่ไหน ตัวอย่างเช่น เราอาจจะบอกว่าเรารู้เรื่องของอาหาร ค้าปลีก บันเทิง เพราะเราเป็นคนที่บริโภคหรือใช้สินค้าเหล่านี้เป็นประจำ เป็นต้น และถ้าเป็นอย่างนั้น เราจะไม่ซื้อหุ้นในกลุ่มอื่นที่เราไม่รู้จักเลย อย่าไปห่วงว่านั่นจะจำกัดตัวหุ้นที่จะลงทุนไปมากและอาจทำให้ “เสียโอกาส” ในการลงทุน จำไว้ว่าสำหรับนักลงทุนรายย่อยนั้น เราต้องการหุ้นจำนวนน้อยมากที่จะทำให้เรารวยหรือประสบความสำเร็จ บัฟเฟตต์ถึงกับบอกว่าในชั่วชีวิตเรานั้น เราอาจจะต้องการหุ้นเพียงแค่ 20 ตัวเท่านั้น

ข้อสอง บริษัทจะต้องเป็นธุรกิจที่มีอนาคตระยะยาวที่ดี และคำว่าดีก็หมายความว่ามันมีความสม่ำเสมอของกำไร และกำไรนี้จะต้องมีความยั่งยืน และเหตุที่จะมีความยั่งยืนก็เพราะว่ามันมีความได้เปรียบที่ยั่งยืน หรือ Durable Competitive Advantage (DCA) ที่จะป้องกันไม่ให้คู่แข่งเข้ามาแย่งธุรกิจ บัฟเฟตต์เองไม่ค่อยเน้นเรื่องของการเติบโตของกำไรมากนัก มันแทบจะไม่ใช่เงื่อนไขของการลงทุนด้วยซ้ำ บัฟเฟตต์น่าจะมีความคิดว่าธุรกิจนั้นถ้าโตเร็วหรือมีกำไรดีมาก สุดท้ายก็จะต้องมีคนเข้ามาแข่ง และถ้าบริษัทไม่มี DCA ก็อาจจะพ่ายแพ้และสุดท้ายแม้แต่กำไรเท่าเดิมก็อาจจะรักษาไว้ไม่ได้ และเท่าที่สังเกตเห็น หุ้นที่บัฟเฟตต์ลงทุนนั้นมักจะมีกำไรที่แน่นอนและมีการเติบโตบ้างเท่านั้น ผมไม่ค่อยเห็นบัฟเฟตต์ลงทุนในหุ้นที่โตเร็วมากเลย

สิ่งที่บัฟเฟตต์ได้จากหุ้นที่ไม่ได้โตเร็วมากก็คือ กำไรที่แน่นอนและปันผลที่เขาจะนำไปลงทุน อาจจะในธุรกิจเดิมถ้ามันยังทำผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นได้สูงเกิน 10% ขึ้นไป หรือไม่ก็นำปันผลที่เป็นเงินสดไปลงทุนในธุรกิจอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า โดยวิธี “ทบต้น” ด้วยผลตอบแทนที่สูงกว่า 10% ต่อปีไปเรื่อย ๆ นี้เองที่ทำให้ความมั่งคั่งของบัฟเฟตต์สูงขึ้นเรื่อย ๆ ติดต่อกันถึง 60 ปี

นักลงทุนที่เน้นหุ้นที่โตเร็วแต่ไม่มีความสม่ำเสมอของกำไรและไม่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนนั้น ผมคิดว่าในบางช่วงโดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดหุ้นบูมนั้น อาจจะทำกำไรได้ดีมาก แต่ในระยะยาวแล้ว โอกาสผิดพลาดก็อาจจะสูงและทำให้ขาดทุนหนัก โดยเฉลี่ยแล้ว ผลตอบแทนก็อาจจะต่ำกว่าการลงทุนแบบของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ได้

ข้อสาม บริษัทจะต้องดำเนินการโดยผู้บริหารที่ซื่อสัตย์และมีความสามารถ แต่บัฟเฟตต์เองไม่ได้คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้บริหาร ถ้าผู้บริหารไม่อยู่แล้วธุรกิจก็อาจจะมีปัญหาได้ เขาคิดว่าธุรกิจจะต้องดีโดยตัวของมันเองไม่ใช่ขึ้นอยู่กับผู้บริหารคนใดคนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หากพบว่าผู้บริหารโกงหรือมีการฉ้อฉลในบริษัท เขาก็คงไม่ลงทุนซื้อหุ้น สำหรับประเด็นเรื่องนี้นั้น ดูเหมือนว่าบัฟเฟตต์จะไม่มีเกณฑ์อะไรที่ชัดเจนว่าแบบไหนจึงจะเรียกว่า “ยอมรับไม่ได้” สิ่งที่เห็นก็คือ ถ้าเขาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่หรือเจ้าของบริษัทแล้วพบว่าผู้บริหาร “โกง” เขาก็มักจะ “บีบ” หรือปลดผู้บริหารรายนั้น

ข้อสุดท้ายสำหรับการเลือกซื้อหรือลงทุนในหุ้นก็คือ ราคาหุ้นต้องมีเหตุผลหรือยุติธรรม ถ้าพูดง่าย ๆ ก็คือ ค่า PE ไม่ควรจะสูงเกินไป ในช่วงเร็ว ๆ นี้ดูเหมือนว่าค่า PE ที่บัฟเฟตต์จ่ายจะอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 20 เท่าเศษ ๆ ว่าที่จริงกฎข้อนี้ในอดีต บัฟเฟตต์ ใช้คำว่า “ราคาหุ้นต้องน่าสนใจมาก ๆ” นี่อาจจะเป็นเพราะว่าในระยะหลัง ๆ การหาหุ้นถูกที่มีขนาดใหญ่ที่เป็นเป้าหมายในการซื้อหรือเทคโอเวอร์นั้นยากมาก เขาจึงใช้คำว่าราคาต้องมีเหตุผลหรือไม่แพงแทนคำว่าราคาถูกหรือถูกมาก

ก่อนจะจบนั้น ผมอยากจะเสริมว่า ในกรณีที่เป็นการเทคโอเวอร์บริษัท สิ่งที่บัฟเฟตต์เน้นอีกข้อหนึ่งก็คือ เขาต้องการกิจการที่สามารถทำกำไรได้ดีวัดจากผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ต้องสูงพอและบริษัทควรจะไม่มีหนี้หรือมีหนี้น้อย ในกรณีของหุ้นจดทะเบียนในตลาดเองนั้น เขาอาจจะไม่ได้พูดย้ำหรือเน้น แต่ผมคิดว่าเกณฑ์หรือแนวความคิดก็คงคล้ายกัน อย่างไรก็ตาม เกณฑ์ข้อนี้คงมีความยืดหยุ่นมากกว่าเรื่องอื่น

เกณฑ์ 4 ข้อของบัฟเฟตต์ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ดูแล้วก็ “ธรรมดาและง่ายมาก” แต่คนส่วนใหญ่หรือแม้แต่ “มืออาชีพ” เองก็ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ การถือหุ้นยาวแบบ “ไม่มีกำหนด” และไม่สนใจหรือไม่หวั่นไหวกับการขึ้นลงของราคาหุ้นและดัชนีตลาด ประเด็นก็คือ คนที่ใช้หลักการของบัฟเฟตต์นั้นมักจะมีเวลาที่กำหนด เช่น ต้องรายงานผลการลงทุนรายเดือนหรือรายปีหรือต้องการใช้เงินในเวลาที่กำหนด บางคนเมื่อลงทุนซื้อไปแล้วหุ้นไม่ขึ้นในระยะเวลาที่หวังก็เริ่มไม่แน่ใจว่าหลักการของบัฟเฟตต์ยังใช้ได้ไหมในช่วงเวลานี้ บางคนอาจจะเชื่อหลักการแต่คิดว่าตนเองวิเคราะห์ผิดหรือไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะบอกได้ว่าหุ้นหรือบริษัทนั้นเข้าเกณฑ์มีความได้เปรียบที่ยั่งยืนจริงไหม และสุดท้ายก็คือ คนจำนวนมากไม่แน่ใจเรื่องราคาหุ้นว่า PE เท่าไรจึงจะเรียกว่ายุติธรรมหรือมีเหตุผล ทั้งหมดนี้ทำให้คนจำนวนมากมักจะ “อ้าง” บัฟเฟตต์ แต่ไม่ปฏิบัติตาม เขารอไม่ได้หรือไม่อยากรอ และในเกมของการลงทุนนั้น คนรอไม่ได้ก็คือ “ผู้แพ้”
ภาพประจำตัวสมาชิก
Nevercry.boy
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 4641
ผู้ติดตาม: 23

Re: หลักการเลือกหุ้นของ Buffett/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ไร้กระบวนท่ากลับสู่สามัญ
เด็กผู้ชายไม่ร้องไห้
http://nevercry-boy.blogspot.com/
ภาพประจำตัวสมาชิก
neuhiran
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 817
ผู้ติดตาม: 10

Re: หลักการเลือกหุ้นของ Buffett/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ผมคิดว่า อ.นิเวศ เองท่านก็ไม่ได้ทำตามที่ บัฟเฟตพูดทุกคำแบบทื่อๆนะ
เพราะถ้าอย่างนั้นท่านคงไม่กล้าซื้อ CPALL เป็นแน่ เพราะ PE สูง :D
nut776
Verified User
โพสต์: 3350
ผู้ติดตาม: 4

Re: หลักการเลือกหุ้นของ Buffett/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 4

โพสต์

บางคน ลึกซึ้ง แต่ เขาไม่รู้ตัวว่าเขาลึกซึ้ง
และไม่ใช่เพราะ เขาแสดงออกมามา simple


มันเป็นเรื่องของคน ตีความมากกว่า

เหมือนคนชอบ quote เรื่อง ไอนสไตน์ ,จอร์แดน ล้มเหลว
พอ รู้ข้อมูลลึกๆแล้ว ไม่ใช่เลย มันแล้วแต่คนเล่า
อยากเล่ามุมไหน ให้คนฟัง เห็นภาพมุมไหน
คนอบกไอสไตน์ ตอนเด็กพูดไม่ได้ โตมาเป็นอัจฉริยะ
จริงๆ พี่แก อัจฉริยะ แต่เด็กแล้ว และขึ้เกีียจพูดไม่ได้พูดช้า


ไมเคิล จอร์แดน แทบไม่เคยเป็น นักกีฬา ที่ล้มเหลว
และเป็น คนที่มีวินัยในการซ้อม สูงมาก มาก่อน กลับทีหลัง
ร่างกาย เฟิร์มพร้อม ตลอด ตั้งแต่ก่อนเปิดฤดูการแข่ง
show me money.
โพสต์โพสต์