รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก
pinguwing
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 193
ผู้ติดตาม: 2

Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน

โพสต์ที่ 31

โพสต์

บริษัทนี้ดังจริง ๆ (Frequency illusion)

เคยมีประสบการณ์แบบนี้ไหมครับ เวลาซื้อหุ้นตัวไหนแล้ว หลังจากนั้น เรามักจะเห็นสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับบริษัทแห่งนั้นเสมอ

หลายคนเลยคิดว่าบริษัทนี้ มีสินค้าหรือบริการเยอะจริง ๆ หรือไม่ก็โฆษณาเยอะ หรือหนักกว่านั้นคือพาลไปคิดว่าบริษัทนี้ต้อง Popular แน่ ๆ เลย รวยแน่ ๆ เรา

โปรดระวังครับ สิ่งที่ท่านกำลังเจอ
อาจจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า Frequency illusion

ซึ่งเป็นอาการที่เราพบว่าเรามักจะเห็นสิ่งที่เราเริ่มสนใจ บ่อยครั้งกว่าตอนที่เราไม่ได้สนใจสิ่งนั้น ทั้ง ๆ ที่สิ่งนั้นมันก็มีจำนวนเท่าเดิมนั่นแหละครับ !!!

มันก็คล้าย ๆ เวลาเราเริ่มสนใจอยากซื้อรถนั่นแหละครับ พอเราสนใจรถรุ่นไหน เรามักจะขับรถไปเจอรถรุ่นนั้นอยู่บ่อย ๆ ไม่ใช่ว่ารถรุ่นนั้นผลิตเยอะขึ้นหรอกครับ เป็นเพียงเพราะว่าแต่ก่อนเราไม่ได้สนใจ เราก็ไม่ได้สังเกต ก็เท่านั้นเอง !!!

เวลาเราจะประเมินความ “ดัง” ของบริษัท ให้ระวังหลุมพรางนี้ดี ๆ นะครับ
pinguwing
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 193
ผู้ติดตาม: 2

Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน

โพสต์ที่ 32

โพสต์

บทวิเคราะห์อันนี้แม่นจริง ๆ (Forer effect)

เคยอ่านบทวิเคราะห์หุ้นแล้วเจอบทวิเคราะห์ในลักษณะนี้ไหมครับ

“จากการวิเคราะห์ของเราพบว่า หากราคาน้ำมันยังคงอ่อนตัวอย่างต่อเนื่อง ราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานก็จะยังคงปรับตัวต่ำลง แต่หากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นมาแล้ว ก็จะส่งผลให้ราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานจะปรับตัว เพิ่มสูงขึ้นตาม”

หรือ

“หากตลาดยังมีความกังวลในเศรษฐกิจของยุโรปอยู่ ดัชนีก็ยังคงปรับตัวลดลง แต่ถ้าเศรษฐกิจของยุโรป เริ่มที่จะมีความชัดเจน และหาทางออกได้ตลาดจะกลับมาบวกอีกครั้ง”

พอเวลาผ่านไปสักพัก ราคาน้ำมันลดลง ราคาหุ้นพลังงานลดลง เราก็คิดว่า เออ บทวิเคราะห์นี่แม่นจริง ๆ หรือเศรษฐกิจยุโรปเริ่มฟื้นตัวขึ้น ตลาดก็บวก เออ คนวิเคราะห์นี่เก่งเนอะ

แต่ถ้ากลับไปอ่านดี ๆ ข้อความข้างบนนั้น มันบอกแบบคลุมเครือ กลาง ๆ หรือพูดง่าย ๆ ว่า ยังไงก็ต้องถูกนั่นเอง

อารมณ์ที่เรามีแนวโน้มเชื่อข้อความในลักษณะนี้ มีชื่อเรียกว่า Forer effect ครับ

ชื่อ Forer เป็นนามสกุลของนักจิตวิทยาชื่อดังที่ชื่อ Bertram R. Forer ซึ่งเขาได้ทำการศึกษาเรื่องนี้ในปี 1948

ในการศึกษานั้น Forer ได้ให้นักเรียนของเขาทำ Personality Test แล้วบอกว่าเขาจะทำนายลักษณะนิสัยจากผลของการทดสอบนี้

โดยเขาจะเขียนข้อความเกี่ยวกับลักษณะนิสัยให้กับคนที่ทำการทดสอบ และให้คนที่อ่านข้อความ ประเมินว่าสิ่งที่เขาอ่านเกี่ยวกับนิสัยเขานั้น มันตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ ใน Scale 0 – 5 (0 คือไม่ตรงเลยและ 5 คือมีความเที่ยงตรงมาก)

ผลปรากฏว่าค่าเฉลี่ยของความแม่นยำสูงถึง 4.26 หลายท่านคงคิดว่า แบบทดสอบนี้แม่นยำสินะครับ

ไม่ใช่เลยครับ เพราะสิ่งที่นักเรียนแต่ละคนได้ไปนั้นมันเป็นข้อความที่เหมือนกันทุกคนครับ !!!

อ้าว แล้วทำไม พวกเขาถึงบอกว่ามันแม่นยำล่ะครับ เพราะข้อความที่ Forer ให้ไปนั้น มันกำกวม กลาง ๆ และแทบจะไม่มีทางผิดเลยครับ

ยกตัวอย่างเช่น

“คุณเป็นคนที่ต้องการให้คนอื่นมารักและชื่นชอบคุณ”(ใครจะไม่ต้องการแบบนี้ล่ะครับ)
หรือ “คุณยังมีความสามารถ ที่ยังไม่ได้มีโอกาสที่จะได้แสดงออกมา” (แหม คงไม่มีใครบอกนะครับ ว่าเรามีความสามารถแค่ที่เราแสดงออกมาหมดแล้ว)

อาการแบบนี้ก็คล้าย ๆ เราไปดูหมอดูนั่นแหละครับ หมอดูบางท่านก็บอกสิ่งที่เป็นกลาง ๆ แบบไม่มีวันผิด เช่น

“คุณเป็นคนที่รักตัวเอง”
“คุณต้องการให้คนอื่นมีความสุข”

แล้วเราก็บอกว่าหมอดูนี้แม่นมาก ๆ เลย

กลับมาที่หุ้นอีกครั้ง ลองกลับไปอ่านบทวิเคราะห์อีกครั้งนะครับ แล้วเราจะเห็นว่ามันมีอะไรแบบนี้ไม่น้อยเลยทีเดียว
pinguwing
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 193
ผู้ติดตาม: 2

Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน

โพสต์ที่ 33

โพสต์

อย่ายึดติด (Functional fixedness)

ในการซื้อขายหุ้นนั้น หลาย ๆ ครั้ง เราจะมีเครื่องมือจำนวนมาก

ถ้าเป็นทางด้านเทคนิค เราก็มี Indicator ต่าง ๆ จำนวนไม่น้อย รวมถึง Chart อีกจำนวนมหาศาล

ถ้าเป็นด้านพื้นฐาน เราก็มีอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ ที่จะเป็นเครื่องมือให้เราวิเคราะห์ความน่าสนใจของบริษัทที่เราจะเข้าไปลงทุน

คราวนี้สิ่งที่เราเจอคือ เครื่องมือต่าง ๆ เหล่านี้ มันก็มีวัตถุประสงค์ต่าง ๆ กันออกไป เช่นอัตราส่วนระหว่างหนี้ต่อทุน (D/E Ratio) ก็อาจจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยเราวิเคราะห์ว่าบริษัทมีหนี้มากน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับทุนที่บริษัทมี

หรือจะเป็น Chart ต่าง ๆ ทางด้านเทคนิค ซึ่งมีสัญญาณต่าง ๆ จำนวนมาก แต่ละสัญญาณก็จะมีวัตถุประสงค์ต่าง ๆ กัน ไม่ว่าใช้เพื่อดูจุดซื้อขาย หรือใช้เพื่อประเมินแนวโน้ม

คราวนี้บางทีเรามักจะยึดติดกับเครื่องมือเหล่านี้ โดยใช้เครื่องมือเหล่านี้สำหรับวัตถุประสงค์ที่มันถูกสร้างขึ้นมาเท่านั้น

ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วเครื่องมือเหล่านี้มันอาจจะมีประโยชน์มากกว่านั้นก็ได้

เราเรียกอาการนี้ว่า Functional fixedness ครับ

ยกตัวอย่างง่าย ๆ ว่าสมมุติว่าเราต้องการหาที่ทับกระดาษ เพื่อให้กระดาษปลิว แต่เรามองเห็นแต่ค้อนที่วางอยู่ หลายคนก็มองข้ามไป เพราะเราคิดแค่ว่าค้อนนั้นใช้ได้แต่ตอกตะปูเท่านั้น !!!
จริง ๆ ค้อนก็เอามาทับกระดาษได้นะครับ

จากงานวิจัยของ German และ Defeyter แห่ง University of Essex ในปี 2000 พบว่าอาการแบบนี้ไม่เกิดกับเด็กอายุ 5 ขวบเลยแต่พอโตขึ้นมาสัก 7 ขวบ เราก็จะเริ่มสร้างกรอบของตัวเองขึ้นมา

ลองมองดูอายุเราตอนนี้สิครับ ป่านนี้เราคงสร้างกรอบไว้เยอะแยะไปหมด

ลองกลับไปดูเครื่องมือที่เราใช้ ๆ กันอยู่นะครับ
แล้วถามตัวเองว่า มันสามารถใช้งานอื่น ๆ อะไรได้อีก

หรือในทางกลับกัน หากมีปัญหาหรือคำถามเกิดขึ้น
ลองมองดูเครื่องมือแบบอื่น ๆ บ้างว่ามันสามารถตอบคำถามเหล่านั้นได้หรือไม่นะครับ
pinguwing
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 193
ผู้ติดตาม: 2

Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน

โพสต์ที่ 34

โพสต์

หุ้นมันตกมา 3 วันติดแล้ว วันนี้ขึ้นแน่ ๆ (Gambler's fallacy)

หลายคนเคยเจอเหตุการณ์นี้ เห็นหุ้นตกมาติด ๆ กันหลายวัน มันเริ่มคันไม้คันมืออยากจะซื้อ
เพราะเราเห็นว่ามันตกติดต่อกันแล้ว มันต้อง Rebound กลับมาขึ้นบ้างแหละน่า

ทั้ง ๆ ที่บางครั้ง เรายังไม่รู้จักหุ้นตัวนั้นด้วยซ้ำไปว่า บริษัทนั้นทำอะไร ทำไมหุ้นถึงตก

ถ้าเราเป็นแบบนี้บ่อย ๆ เรามีแนวโน้มของการเป็น “นักพนัน” มากกว่า “นักลงทุน” แล้วล่ะครับ
อาการแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เราเรียกมันว่า Gambler's fallacy ครับ

ตัวอย่างที่มักจะพบเพื่ออธิบายปรากฏการณ์นี้คือการโยนหัวก้อยครับ ถ้าเราโยนหัวก้อย 5 ครั้ง
แล้วมันออกหัวติดกันมา 5 ครั้งแล้ว เรามักจะมีแนวโน้มที่จะคิดว่า ในการโยนเหรียญครั้งที่ 6 นั้น
มันมีโอกาสที่จะออกก้อยมากกว่าหัว

ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วมันไม่เกี่ยวหรอกครับว่ามันจะออกหัวหรือก้อยมากี่ครั้งในอดีต สุดท้ายในการโยนเหรียญแต่ละครั้ง โอกาสออกหัวหรือก้อยมันก็เป็น 50% เท่าเดิมนั่นแหละครับ!!!

เหตุการณ์ที่เป็นตัวอย่างของ Gambler's fallacy ที่เป็นที่น่าสนใจเกิดขึ้นในวันที่ 18 สิงหาคม 1913 ที่ Monte Carlo Casino อันโด่งดัง

ในวันนั้นในเกม Roulette ซึ่งเป็นเกมที่นักพนันจะพนันว่าลูกบอลจะออกสีดำหรือแดง ปรากฏว่าในวันนั้น มีการออกสีดำติดต่อกันถึง 26 ครั้ง !!! เล่นเอานักพนันหลายคนหมดตัวกันไปเลยทีเดียว

เพราะทุกคนพอเห็นมีการออกสีดำติด ๆ กันหลายครั้ง เขาก็จะทุ่มเงินพนันไปฝั่งตรงข้ามคือสีแดง
ด้วยความคิดว่า ออกดำมาหลายครั้งแล้ว อย่างนี้โอกาสครั้งต่อไปที่จะออกแดง จึงต้องมีมากขึ้นแน่ ๆ !!!

ผลก็คือหมดตัวไปตาม ๆ กันครับ

ถ้างั้นระวังกันนะครับ หุ้นตกติดกัน 3 วัน ก็ไม่ได้ หมายความว่าโอกาสที่หุ้นจะขึ้นในวันที่ 4 จะมีมากขึ้นเสมอไปนะครับ
pinguwing
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 193
ผู้ติดตาม: 2

Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน

โพสต์ที่ 35

โพสต์

ยิ่งยาก ยิ่งคิดว่าจะชนะ (Hard–easy effect)

นักลงทุนหลายคนมีความมั่นใจในความสามารถของตัวเอง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก
เราคิดว่าเราจะสามารถเอาชนะตลาดหุ้นได้ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกัน

เพราะถ้าเราคิดว่าเราจะแพ้ เราคงไม่เข้ามาในตลาดตั้งแต่แรกจริงไหมครับ

แต่ที่แปลกคือ ...

เรามักจะประมาณความสามารถเราผิดไป คือยิ่งตลาดมีความผันผวนมาก ซึ่งยากที่จะทำนาย เรามักจะคิดว่าเรายิ่งจะสามารถเอาชนะตลาดได้ ซะงั้น !!!

แต่ในทางกลับกัน ยิ่งตลาดไม่ได้ผันผวนมากนัก ซึ่งน่าจะทำนายตลาดได้ง่าย เรากลับคิดว่าเรามีโอกาสต่ำที่จะประสบความสำเร็จ

เราเรียกอารมณ์แบบนี้ว่า Hard–easy effect ครับ

ในปี 1997 Goldstein และ Hogarth จาก University of Chicago ได้ทำการทดลอง โดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองตอบคำถามความรู้ทั่วไปเช่น “ท่านคิดว่าซิปถูกสร้างขึ้นมาก่อนหรือหลังปี 1920”
โดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองบอกด้วยว่าเขามั่นใจคำตอบที่เขาตอบมามากเพียงใด

ผลการทดลองพบว่ายิ่งคำถามที่คนตอบคิดว่าง่าย เขายิ่งไม่ค่อยมั่นใจในคำตอบ
แต่ยิ่งคำถามยิ่งยาก เขายิ่งมั่นใจ

เวลาเราลงทุนอะไร แล้วมีอารมณ์มั่นใจมาก ๆ ว่าเสร็จเราแน่แบบนี้ยิ่งต้องระวังนะครับ เพราะส่วนใหญ่แล้ว เรานั่นแหละที่เสร็จ 55555
pinguwing
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 193
ผู้ติดตาม: 2

Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน

โพสต์ที่ 36

โพสต์

ว่าแล้ว ต้องเป็นแบบนี้ (Hindsight bias)

เคยเจอเพื่อนแบบนี้ไหมครับ ถามอะไรรู้หมด ตอบได้ทุกเรื่อง วิเคราะห์ได้เป็นฉาก ๆ
แต่ที่ตอบได้และวิเคราะห์ได้นั้น ส่วนใหญ่มักจะเป็นการวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วทั้งนั้น

หุ้นก็เหมือนกันครับ เราอาจจะเจอนักวิเคราะห์บางคน (ย้ำว่าบางคนนะครับ) ที่ชอบวิเคราะห์หุ้นหลังจากที่หุ้นมันขึ้นหรือลงมาแล้ว แล้วก็เอาเหตุผลต่าง ๆ มาประกอบ หรือแปลง่าย ๆ คือผลมาก่อน แล้วค่อยหาเหตุมาปะติดปะต่อเอานั่นเอง !!!

เราเรียกสิ่งนี้ว่า Hindsight bias ครับ

ในปี 1975 นักวิจัยสองท่านได้แก่ Beyth และ Fischhoff จาก The Hebrew University of Jerusalem ได้ทำการทดลองโดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองทำการประมาณความเป็นไปได้หลายอย่างเกี่ยวกับการเยือนปักกิ่งและมอสโคว์ของประธานาธิบดี Richard Nixon

หลังจากที่ประธานาธิบดีเสร็จสิ้นการเยือนประเทศทั้งสองแล้ว ผู้เข้าร่วมการทดลองก็ถูกถาม
เพื่อให้นึกถึงความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เคยประมาณการไว้ (คือถามว่าเหตุการณ์
ต่าง ๆ ที่เคยประมาณความน่าจะเป็นนั้น เคยประมาณไว้เท่าไร)

ผลปรากฏว่า ...
ผู้เข้าร่วมการทดลองตอบความน่าจะเป็นเฉพาะในส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ๆ สูงกว่าที่เคยประมาณการไว้ !!!

หรือพูดง่าย ๆ คือพอเห็นว่ามันเกิดขึ้นจริง ๆ แล้ว เขาก็คิดว่าตอนเขาประมาณการมันก็น่าจะเป็นไปอย่างนั้นแหละ

ดังนั้นอ่านบทวิเคราะห์หุ้นหรือบริษัท จะต้องอ่านดี ๆ ครับ
เพราะบางทีเราก็เจอประเภทที่ว่า

“ว่าแล้ว ต้องเป็นแบบนี้” บ่อยอยู่เหมือนกันนะครับ
pinguwing
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 193
ผู้ติดตาม: 2

Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน

โพสต์ที่ 37

โพสต์

ข่าวนี้มันลำเอียงชัด ๆ (Hostile media effect)

ก่อนอ่านเนื้อความต่อไปนี้ ลองหยิบหนังสือพิมพ์หุ้นที่วางอยู่ข้าง ๆ แล้วลองอ่านข่าวสักข่าวหนึ่ง
ดูหน่อยครับว่า เรารู้สึกอย่างไรกับข่าวนี้

หรือไม่ต้องหยิบมาอ่านก็ได้ครับ ลองนึกถึงข่าวเกี่ยวกับหุ้นล่าสุดที่เราได้อ่านดูก็ได้ครับ
(ถ้านึกออก) ท่านรู้สึกว่าคนเขียนข่าวลำเอียงหรือไม่
ถ้าท่านตอบว่าลำเอียงชัด ๆ ไม่มีความเป็นกลางเลย

บางทีท่านกำลังได้รับผลกระทบจากสิ่งที่เรียกว่า Hostile media effect นะครับ

Hostile media effect มักจะเกิดกับคนที่มีความเห็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างรุนแรง

ในปี 1982 Vallone Ross และ Lepper นักวิจัย 3 ท่านจาก Stanford University ได้ทำการทดลองโดยให้กลุ่มนักศึกษา Stanford ที่เห็นด้วยกับปาเลสไตน์ กับอีกกลุ่มที่เห็นด้วยกับอิสราเอล อ่านข่าวที่เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างสองประเทศชิ้นเดียวกัน และถามว่าข่าวนั้นลำเอียงหรือไม่

ผลปรากฏว่า ...

นักศึกษาทั้งสองกลุ่มต่างก็เห็นว่าข่าวชิ้นนั้นลำเอียงไปยังฝั่งตรงกันข้าม
ทั้ง ๆ ที่มันก็ข่าวเดียวกันนั่นแหละ !!!

สิ่งแบบนี้เกิดขึ้นได้ตลอดนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกีฬา การเลือกตั้ง ฯลฯ

ดังนั้นถ้าเราเริ่มมีอาการอ่านข่าวหุ้น แล้วรู้สึกขวางหู ขวางตา เริ่มรู้สึกว่าคนเขียนลำเอียง ไม่เข้าข้างหุ้นที่เราชอบแล้วล่ะก็ต้องระวังตัวกันให้ดี ๆ นะครับ
pinguwing
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 193
ผู้ติดตาม: 2

Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน

โพสต์ที่ 38

โพสต์

ทำไมเราถึงทนรวยกันไม่ได้ รู้ไหมครับ (Hyperbolic discounting)

หลายคนเคยเป็นแบบนี้ไหมครับ
ศึกษาหนังสือมาเป็นอย่างดี
อยากจะเป็น VI (Value Investor) ค้นหาหุ้นที่ต้องการ
แล้วก็ตัดสินใจซื้อหุ้น กะไว้ว่าจะถือไว้ยาว ๆ ให้ได้กำไรหลาย ๆ เท่า

สองสัปดาห์ถัดมา ...
เราเริ่มเห็นหุ้นขยับขึ้น กำไรตอนนี้ 10% แล้ว
โห สองสัปดาห์ 10% ยอดเยี่ยม ยอดเยี่ยม

แต่พอเราเริ่มเห็นหุ้นลดลง
คราวนี้แหละครับ เริ่มกระวนกระวายใจ
กลัว 10% หายไป ตัดใจขายไปก่อนดีกว่า

ความตั้งใจตอนแรกหายไปหมดแล้ว
ถือยาว ๆ เนี่ย เหลือแค่ 2 สัปดาห์เอง
ถ้าท่านเป็นคนหนึ่งที่มีประสบการณ์แบบนี้
ท่านกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า Hyperbolic discounting ครับ

Hyperbolic discounting คือปรากฏการณ์ที่เรามักจะอยากได้รางวัลในปัจจุบันมากกว่ารางวัลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เอา ตัวอย่างดีกว่าครับ
ถ้าถามว่าถ้าให้เลือกรับเงิน 1,000 บาทวันนี้ กับ 1,100 บาทในอีก 7 วันข้างหน้า
ท่านอยากได้อันไหนมากกว่ากัน

หลายคนอาจจะตอบว่าเอา 1,000 บาทวันนี้เลยดีกว่า ทั้ง ๆ ที่อีก 7 วันข้างหน้าได้อีกตั้ง 100 บาท
แต่มันต้องรอถึง 7 วันแน่ะ

อย่างไรก็ตาม Hyperbolic discounting นี้จะส่งผลน้อยลง ถ้ามันเป็น Time frame ในระยะไกลกว่า

เช่นจากตัวอย่างก่อนหน้านี้ สมมุติว่าเปลี่ยนคำถามเป็น จะเลือกรับเงิน 1,000 บาทในอีก 1 ปีข้างหน้า หรือ 1,100 บาทในอีก 1 ปีกับอีก 7 วันข้างหน้า

หลายคนอาจจะบอกว่ารอรับ 1,100 บาท ดีกว่า ทั้ง ๆ ที่มันก็รับหลังไปอีก 7 วันเช่นกัน !!!

รู้งี้แล้วไม่แปลกใจใช่ไหมครับ ว่าทำไมหลายคน ถึง “ทนรวย” ไม่ได้
รีบขายหุ้นที่เราซื้อมา โดยตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกว่าจะถือยาว
เพราะเราชอบกำไรที่ได้ตอนนี้ มากกว่ากำไรที่อาจจะได้มากกว่าในอนาคตไงครับ
pinguwing
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 193
ผู้ติดตาม: 2

Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน

โพสต์ที่ 39

โพสต์

ช่วงนี้มือขึ้น (Hot-hand fallacy)

Trader ทั้งหลายเคยเจอเหตุการณ์นี้ไหมครับ
ช่วงไหนที่ “มือขึ้น” เรามักจะ Trade ได้กำไรติด ๆ กัน
แต่ช่วงไหนที่ “มือตก” เราก็มักจะขาดทุนติด ๆ กันเช่นกัน

อาการเช่นนี้มีชื่อเรียกว่า Hot-hand fallacy ครับ

Hot hand เป็นชื่อเรียกที่เรามักจะเจอในกีฬาบาสเกตบอล ที่หลายคนมีความเชื่อว่า หากนักกีฬาคนใดที่ชู้ตลงห่วงได้ติด ๆ กัน โอกาสที่เขาจะชู้ตบอลลงอีก จะมีมากขึ้น หรือเรียกว่ามือกำลังขึ้น ว่างั้นเถอะ

จากการศึกษาของ Gilovich จาก Cornell University ร่วมกับ Tversky และ Vallone แห่ง Stanford University ในปี1985 ที่ทำการศึกษาการชู้ตบอลของนักกีฬาบาสเกตบอล พบว่าการ
ชู้ตลงแต่ละครั้งนั้น เป็นอิสระต่อกัน!!! หรือพูดง่าย ๆ ว่ามันไม่เกี่ยวกันเลยที่ว่าการชู้ตลงห่วงติด ๆ กัน จะทำให้โอกาสที่ครั้งต่อไปจะลงมีมากขึ้น

อ้าว แล้วทำไมเวลาเราดูการแข่งขัน เราอาจจะเห็นเหตุการณ์อย่างนั้นอยู่เรื่อย ๆ ล่ะ

คำตอบคือบางครั้งเหตุการณ์ที่เป็น Random นั้น มันอาจจะเกิดติด ๆ กันก็ได้ ไม่ได้หมายความว่ามันจะต้องสลับกันไปมาเสมอไป

การที่เราดูการแข่งขัน มันเป็นการสังเกตในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น
เราอาจจะเห็นการชู้ตบอลลงห่วงของนักกีฬาคนใดคนหนึ่งติด ๆ กันได้ ทั้ง ๆ ที่มันอาจจะไม่ได้มีความสัมพันธ์อะไรกันเลยระหว่างการชู้ตลงในครั้งแรก ๆ และในลูกต่อมา

เหมือนกับการโยนหัวก้อยแหละครับ
เราทุกคนทราบดีว่า โอกาสที่จะได้หัวคือ 50% ก้อย 50%
แต่หากเราสังเกตในช่วงเวลาสั้น ๆ บางทีเราอาจจะเห็นการออกหัวติดกัน 6 ใน 7 ครั้งก็ได้

เล่นหุ้นก็เหมือนกันครับ
Trader คนใด ที่สำเร็จติด ๆ กันหลาย ๆ ครั้ง
ก็อย่างเพิ่งคิดว่าช่วงนี้มือขึ้น ทุ่มไปหมดหน้าตักนะครับ

เพราะสิ่งที่ท่านเห็น อาจจะเป็นเพียง Random Event อันหนึ่งก็ได้ครับ
pinguwing
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 193
ผู้ติดตาม: 2

Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน

โพสต์ที่ 40

โพสต์

ทำไมบางคนชอบซื้อหุ้นตาม “กูรู” (Identifiable victim effect)

ถ้าเราสนใจหุ้นอยู่ตัวหนึ่ง แล้ววันหนึ่งเราได้รับทราบข่าวว่า
นักลงทุนที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งได้ซื้อหุ้นหรือถือหุ้นที่เรากำลังสนใจอยู่

เราจะทำอย่างไรครับ ?

และถ้าต่อมาอีกสักระยะหนึ่ง เราก็ไปได้ข่าวว่า นักลงทุนผู้มีชื่อเสียงคนนั้นไม่ได้ถือหุ้นที่เราถืออยู่แล้ว

เราจะทำอย่างไรกันดีครับ ?

หลายคนอาจจะมีคำตอบอยู่ในใจแล้ว

คือถ้าเห็นกูรูชื่อดังซื้อ เราก็ซื้อตามสิ และถ้าไปทราบว่าเขาขาย เราก็ขายตามสิ
ก็แค่นี้ ไม่เห็นจะยากเลย

สิ่งที่ท่านกำลังทำอยู่นั้นมีชื่อเรียกว่า Identifiable victim effect ครับ

คนเราส่วนใหญ่มักจะตอบสนองกับสิ่งที่มันเฉพาะมากกว่าสิ่งที่มันเป็นสิ่งทั่วไป

เคยอ่านข่าวเจอกันไหมครับว่าถ้าเราพบกรณีของคนที่มีชื่อเสียงเรียงนามชัดเจน
แล้วเขาเป็นโรคหรือมีสภาพความเป็นอยู่ที่น่าสงสาร เรามักจะอยากบริจาคเงินมากกว่า
การขอบริจาคให้คนจนแบบทั่ว ๆ ไป

หุ้นก็เหมือนกันครับ
ถ้าเรารู้แค่ว่านักลงทุนทั่ว ๆ ไปขายหุ้นนี้ เราจะให้ความสนใจน้อยกว่าการที่เราทราบเป็นการเฉพาะเจาะจงว่า นักลงทุนท่านใดได้ขายหุ้นนั้นไป

อย่างนี้แหละครับ จึงเกิดการซื้อขายหุ้นตามกูรูไงครับ
เพราะฉะนั้นก่อนจะซื้อจะขายอะไร ลองคิดก่อนนะครับว่าจริง ๆ แล้วกำลังทำตามใครอยู่
หรือมีเหตุผลที่สมควรให้ตัดสินใจอย่างนั้นจริง ๆ
b4solid
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1131
ผู้ติดตาม: 65

Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน

โพสต์ที่ 41

โพสต์

ขอบคุณครับ เข้ามาอ่านเหมือนเดิม

ปล เล่มนั้นผมก็อ่านเหมือนกันครับ
pinguwing
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 193
ผู้ติดตาม: 2

Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน

โพสต์ที่ 42

โพสต์

พอร์ตนี้เราสร้างขึ้นมาเอง มันต้องดีแน่ ๆ (IKEA effect)

หลายคนเป็นนักลงทุนที่มีความพยายามสูง กว่าจะสร้างพอร์ตในการลงทุนนั้นก็เลือกแล้วเลือกอีก ศึกษาทั้งธุรกิจและรายละเอียดต่าง ๆ อย่างรอบคอบ

จนกระทั่งกว่าจะสร้างพอร์ตการลงทุนออกมาได้
เรียกว่าเสียเหงื่อไปไม่น้อยแหละ !!!

คราวนี้ บางครั้งหุ้นที่อยู่ในพอร์ตนั้นมันอาจจะไม่ได้ดีเสมอไป
เพราะเราอาจจะพลาดรายละเอียดบางอย่างไป
หรือบางที สถานการณ์มันเปลี่ยนไปก็ได้

แต่หลายคนที่สร้างพอร์ตมาโดยใช้แรงกายแรงใจมากนั้น กลับ “หลงรัก” พอร์ตของตัวเอง
จนกระทั่งอาจจะมองข้ามข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น

ความพึงพอใจในการได้มีส่วนสร้างบางสิ่งนั้นมีชื่อเรียกว่า IKEA effect ครับ

ชื่อนี้ก็ถูกเรียกชื่อตามร้านขายเฟอร์นิเจอร์ชื่อดังของสวีเดน คือ IKEA นั่นแหละครับ
โดย IKEA จะให้ลูกค้าซื้อส่วนประกอบของเฟอร์นิเจอร์ และนำไปประกอบเองที่บ้าน

จากการศึกษาของ Michael Norton จาก Harvard Business School ร่วมกับ Daniel Mochon จาก Yale University และ Dan Ariely จาก Duke University ในปี 2011 พบว่า...

ถ้าลูกค้าได้มีส่วนในการสร้างสิ่งที่เขาซื้อมา ถึงแม้ว่าผลลัพธ์อาจจะไม่ดีเท่ากับสินค้าที่ประกอบ
เสร็จแล้ว เขาก็ยังมีความพึงพอใจมากกว่าการซื้อสินค้าที่เขาไม่มีโอกาสในการสร้างอยู่ดี !!!

จริงครับ ที่การทำอะไร มันสร้างความภูมิใจให้เรา
การเลือกหุ้นด้วยตัวเอง ศึกษาเอง เป็นสิ่งที่ดี
แต่อย่าให้มันกลายเป็นอุปสรรค ทำให้เรา “หลงรัก” หุ้นที่เราเลือกจนลืมหูลืมตาไม่ขึ้นแล้วกันนะครับ
pinguwing
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 193
ผู้ติดตาม: 2

Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน

โพสต์ที่ 43

โพสต์

วันนี้ขออนุญาตเอา Clip ที่ผมไปออกรายการ Money Talk กับท่านอาจารย์ไพบูลย์ ท่านอาจารย์นิเวศน์ และ ท่านอาจารย์เสน่ห์ ในหัวข้อความลำเอียงในการตัดสินใจมา share ให้ทุกท่านนะครับ

บทความยังมีมาเรื่อย ๆ ครับ :)

https://youtu.be/ZEetMxfUwww
pinguwing
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 193
ผู้ติดตาม: 2

Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน

โพสต์ที่ 44

โพสต์

อีก clip หนึ่ง สำหรับคนที่ขี้เกียจอ่านบทความยาว ๆ นะครับ

อันนี้เป็นงานที่ผมไปพูดใน SiamQuant Conference 2015 ในปลายปีที่ผ่านมา โดยได้รับเชิญจากคุณมด แห่งแมงเม่าคลับครับ สนใจลองเข้าไปดูได้เลยครับ

ส่วนบทความจะมีมา share เรื่อย ๆ นะครับ :)

https://youtu.be/u_2Gk_dz8ls
pinguwing
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 193
ผู้ติดตาม: 2

Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน

โพสต์ที่ 45

โพสต์

หุ้นนี้ เรา “เอาอยู่” (Illusion of control)

เคยเป็นกันไหมครับ บางทีเราซื้อหุ้น และคิดว่าหุ้นนี้มันต้องขึ้นแน่ ๆ
(ใช่สิ ถ้าไม่คิดว่าจะขึ้น แล้วจะซื้อทำไม จริงไหมครับ 555)

แต่บางคนเป็นหนักกว่านั้นครับ
คือเริ่มมีความเชื่อว่าเราสามารถ “ควบคุม” การเคลื่อนไหวของหุ้นได้

เช่นการเลือกซื้อหุ้นในวันเวลาต่าง ๆ แล้วคิดว่าการซื้อหุ้นในวันเวลานั้น ๆ มันจะได้ราคาต่ำสุด
หรือการเลือกขายหุ้นในวันเวลาต่าง ๆ เพียงเพราะเชื่อว่าการขายหุ้นในวันเวลาเหล่านั้น มันจะขายได้ราคาสูงสุด
ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เราไม่สามารถควบคุมได้เลย และมันคือการสุ่มดี ๆ นี่เอง

อาการแบบนี้เราเรียกว่า Illusion of control ครับ

คำ ๆ นี้ได้ถูกตั้งชื่อจากนักจิตวิทยาที่ชื่อว่า Ellen Langer โดยในปี 1975 ทีมวิจัยของ Ellen Langer ได้ทำการทดลองโดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองโยนเหรียญ และให้ทำนายก่อนการโยนว่าจะออกหัวหรือก้อย

ในการทดลองนี้ได้มีการ Set Up ให้คนทาย ทายถูก 50% แต่กลุ่มแรก จะให้ทายถูกติด ๆ กันในการโยนช่วงแรก แต่อีกกลุ่มหนึ่ง จะทายถูกบ้าง ผิดบ้างสลับกัน

จากผลการทดลองพบว่า กลุ่มแรกที่ทายถูกติด ๆ กันนั้น จะมีความคิดว่าเขามีความสามารถในการทายเหรียญ หรือเรียกง่าย ๆ คือเขาคิดว่าเขาสามารถ “ควบคุม” สิ่งนี้ได้ ทั้ง ๆ ที่มันคือเรื่องของความน่าจะเป็นล้วน ๆ

อย่างนี้แหละครับ
บางที ถ้าเราเริ่มมีความคิดว่าเราสามารถมีอิทธิพลกับราคาหุ้นในตลาดเมื่อไรล่ะก็
ผมว่าถึงเวลาที่เราควรจะหยุดซื้อขายหุ้นสักพักแล้วล่ะครับ
pinguwing
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 193
ผู้ติดตาม: 2

Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน

โพสต์ที่ 46

โพสต์

ข้อมูลใหม่ น่าสนใจมาก (Illusion of validity)

ตอนที่ทุกท่านเลือกหุ้นท่านดูอัตราส่วนทางการเงินอะไรกันบ้างครับ

หลายท่านอาจจะตอบว่า ROA ROE P/E P/B หรือตัววัดทางการเงินอื่น ๆ
ก็ไม่ผิดหรอกครับ ที่เราจะดูตัววัดหลาย ๆ ตัวไปพร้อม ๆ กัน

แต่สิ่งที่อยากจะบอกคือ
บางครั้งตัววัดหลาย ๆ ตัวเหล่านั้น มันมีความสอดคล้องกันอย่างมาก
ทำให้ข้อมูลใหม่ที่ได้มา บางทีมันไม่ได้มีประโยชน์มากขึ้นสักเท่าไรเลย !!!

ยกตัวอย่างนะครับ
สมมุติว่าเราดูอัตราส่วนทางการเงินคือ Return on Asset (ROA) ซึ่งคือผลตอบแทนที่ได้เทียบกับสินทรัพย์ที่มีอยู่ทั้งหมด แล้วเราพบว่ามีค่าสูง น่าสนใจทีเดียว

คราวนี้เพื่อที่จะให้เราตัดสินใจได้ง่ายหน่อย เราก็เลยไปหาข้อมูลตัววัดอื่น ๆ มา
แล้วเราก็พบว่าค่า Return on Equity (ROE) ของบริษัทนี้ก็มีค่าสูงเช่นกัน

ว้าว ถ้าอย่างนี้บริษัทนี้ก็น่าจะดีจริง ๆ
....
....

แต่เดี๋ยวก่อนนะครับ บริษัทนี้เป็นบริษัทที่ไม่มีหนี้มากนัก
จริง ๆ ถ้า ROA มันสูงแล้ว ROE มันก็ต้องสูงตามอยู่แล้ว
หรือหมายความว่า ข้อมูล ROE ที่ได้มาใหม่นี้ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเพิ่มเติมมากมายเลย
แต่หลายท่านกลับมองเห็นว่าข้อมูลใหม่ที่ได้มานั้น มีประโยชน์เพิ่มเติมมาก

ถ้าท่านรู้สึกเช่นนั้น ท่านกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า Illusion of validity แล้วล่ะครับ

ในปี 2004, Meredith Frey และ Douglas Detterman นักวิจัยจาก Case Western Reserve University ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่พบความสัมพันธ์ระดับสูง ระหว่างคะแนนสอบ SAT กับคะแนนการวัดระดับ IQ

คราวนี้ก็มีบริษัทยักษ์ใหญ่จำนวนมากที่ทำการรับสมัครพนักงานที่ส่วนใหญ่ก็จบมาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ ซึ่งโดยปกติคนจะเข้าไปเรียนได้นั้นก็ต้องมีคะแนน SAT สูงอยู่แล้ว

แต่ถึงกระนั้น...
ในกระบวนการรับสมัครนั้น ก็ยังให้พนักงานทดสอบเพื่อวัดค่า IQ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ ถ้า SAT สูง
ค่า IQ มันก็มักจะสูงตามอยู่แล้ว !!!

หรือพูดง่าย ๆ คือข้อมูลใหม่ที่ได้จากค่า IQ ไม่ได้ช่วยให้การตัดสินใจทำได้ดีขึ้นเลย !!!

ถ้างั้น เวลาเลือกหุ้นก็ระวังดี ๆ นะครับ เตือนตัวเองสักหน่อยก็ดี ว่าข้อมูลที่ได้มาใหม่นี้
มีประโยชน์มากขึ้นอย่างชัดเจนหรือเปล่า
pinguwing
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 193
ผู้ติดตาม: 2

Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน

โพสต์ที่ 47

โพสต์

ถ้าฝนตก แล้วหุ้นจะตก (Illusory correlation)

ไม่ทราบว่า หลายท่านมีความเชื่ออะไรแปลก ๆ แบบนี้ไหมครับ เช่นท่านเชื่อว่า

“ถ้าวันไหน ฝนตกหนัก ตลาดหุ้นจะตกตาม”

ผมว่าความเชื่อแบบนี้ เราแทบจะหาเหตุผลอะไรมาอธิบายไม่ได้เลยใช่ไหมครับ
แต่เชื่อไหมครับ ว่ามีหลายคนที่ยังคงความเชื่อแบบนี้พูดง่าย ๆ เรามีสิ่งที่เรียกว่า Illusory correlation หรือเป็นภาพลวงตาที่ทำให้เราเห็นความสัมพันธ์ที่จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่เลย !!!

คำว่า “Illusory correlation” ถูกตั้งขึ้นครั้งแรกในปี 1967 โดย Loren และ Jean Chapman นักวิจัยจาก University of Wisconsin at Madison ซึ่งทำงานวิจัยและพบภาพลวงตาในลักษณะนี้

สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรทราบไหมครับ ?

ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดขึ้นจากความทรงจำบางอย่างของเรา ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเหตุการณ์ที่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก

เช่น เรายังจำวันที่หุ้นตกมาก ๆ ได้ เพราะเป็นวันที่เราเสียเงินมากที่สุดวันหนึ่งของชีวิตเลย
และเราก็จำได้ว่าวันนั้นมันเป็นวันที่ฝนตกหนัก

มันเลยทำให้เราเริ่มจะมองว่า ฝนตก กับ หุ้นตก มันอาจจะสัมพันธ์กัน หลังจากนั้นเป็นต้นมา
เราก็เริ่มสังเกต เฉพาะวันที่ฝนตกหนักและถ้าเราไปเจออีกว่า พอฝนตกหนัก และหุ้นวันนั้นเผอิญตกอีก

คราวนี้มันก็กลายเป็นความเชื่อของเราว่าหุ้นตกกับฝนตก มันสัมพันธ์กัน

จริง ๆ วันที่อากาศดี แต่หุ้นตก ก็มีเหมือนกัน แต่เรามองข้ามมันไปไงครับ

เคยได้ยินคำนี้ไหมครับ “Sell in May and go away”
คือความเชื่อที่ว่านักลงทุนควรขายหุ้นทิ้งให้หมดในเดือนพฤษภาคมและกลับมาซื้อใหม่ในเดือนพฤศจิกายน

ด้วยเหตุผลที่ว่าช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคมนั้นเป็นช่วงที่หุ้นจะตก

แล้วความคิดนี้มาจากไหนครับ จริง ๆ ก็มาจากข้อมูลในอดีตนั่นแหละครับ
แต่ถ้ามันเป็นสูตรที่ง่ายขนาดนี้ ทุกคนก็น่าจะรวยกันหมดแล้ว
ก็แค่ขายหุ้นตอนเดือนพฤษภาคม และกลับมาซื้อในเดือนพฤศจิกายนเท่านั้น

ดังนั้นเวลาจะตัดสินใจอะไรไป ระวังภาพลวงตาในลักษณะนี้ด้วยนะครับ
pinguwing
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 193
ผู้ติดตาม: 2

Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน

โพสต์ที่ 48

โพสต์

อยาก รวยต้อง “รอ” (Impact bias)

เคยเจอไหมครับ เวลาเล่นหุ้นเมื่อไร ถ้าใจเรามัน “ร้อน”
อยากรีบซื้อ (เพราะกลัวตกรถ) หรือรีบขาย (เพราะกลัวติดดอย) ทีไร
เรามักจะตัดสินใจพลาดทุกที

อาการแบบนี้มันมีสาเหตุมาจาก การที่เรามักจะ overestimate สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตครับ

เวลาเรารีบซื้อเพราะเราคิดว่า หุ้นมันต้องขึ้นแน่ ๆ และขึ้นมากด้วยไม่ซื้อตอนนี้ ไม่ทันแล้ว
เช่นเดียวกัน เวลาเรารีบขาย เพราะเราก็คิดว่า ขืนไม่ขายตอนนี้ จะขายไม่ทัน หุ้นมันจะตก และตกมากด้วยเช่นกัน

แต่เชื่อไหมครับ ถ้าเรารอสักหน่อย บางทีเราอาจจะเปลี่ยนใจได้ หลังจากที่เรา “เย็น” ลงแล้ว
อาการแบบนี้ มีชื่อเรียกว่า Impact bias ครับ

ในปี 1998 ทีมวิจัยของ Daniel Gilbert นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Harvard ได้ทำการวิจัยที่ให้
ผู้เข้าร่วมการทดลองเข้าไปสัมภาษณ์งาน โดยก่อนที่จะเริ่มสัมภาษณ์นั้น ผู้เข้าร่วมการทดลองเหล่านี้จะต้องตอบแบบสอบถามเพื่อทำนายความรู้สึกของเขาว่าจะรู้สึกอย่างไรหากได้หรือไม่ได้งาน

พอสัมภาษณ์เสร็จ ผู้เข้าร่วมการทดลองได้รับทราบผล (ซึ่งในการทดลองนี้ ผลของทุกคนคือไม่ได้รับการคัดเลือก) และให้ผู้เข้าร่วมการทดลองตอบแบบสอบถาม เพื่อถามความรู้สึกอีกครั้ง

หลังจากนั้นอีก 10 นาที ก็ให้ผู้เข้าร่วมทดลองตอบแบบสอบถาม โดยให้บอกความรู้สึกอีกรอบหนึ่ง

สิ่งที่พบคือ...

ผู้เข้าร่วมการทดลองนั้นสามารถทำนายความรู้สึกตัวเอง ได้ถูกต้อง เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่าง
ความรู้สึกที่ทำนายก่อนการสัมภาษณ์และหลังการสัมภาษณ์และทราบผลเสร็จทันที

แต่ ...

หากเปรียบเทียบกันระหว่างสิ่งที่ทำนายก่อนการสัมภาษณ์กับหลังจากสัมภาษณ์และทราบผล
ไปแล้ว 10 นาทีนั้น

พบว่า...

ผู้เข้าร่วมการทดลองมีความสุขมากกว่า หลังจากที่รอไปอีก 10 นาที

นั่นหมายความว่า...

ระยะเวลามีผลต่อความรู้สึก หรือที่เรียกว่า Impact bias นั่นเอง !!!

ถ้างั้น ตอนซื้อขายหุ้น ต้องระวังความรู้สึกเรานะครับ บางทีทำอะไรตอนใจมันยัง “ร้อน” มันมักจะไม่ค่อยเกิดผลดีสักเท่าไร

ตอนที่เรา “เย็น” บางทีเราอาจจะคิดได้รอบคอบกว่า และความรู้สึกก็อาจจะเปลี่ยนไปได้

อยากรวยต้อง “รอ” ครับ
pinguwing
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 193
ผู้ติดตาม: 2

Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน

โพสต์ที่ 49

โพสต์

ข้อมูลนี้ มีหรือไม่มี ก็เหมือนกัน (Information bias)

เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ไหมครับ เราหาข้อมูลมาแทบตาย
หรือบางทีต้องจ่ายเงินเพื่อให้ได้มาด้วย
แต่สุดท้าย มันก็ไม่ได้ช่วยให้เราตัดสินใจเปลี่ยนไปเลย

ยกตัวอย่างนะครับ ถ้ามีคนป่วย ที่คุณหมอกำลังสงสัยว่าจะเป็นโรคอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นโรค A หรือ B และด้วยประสบการณ์และความรู้ ของคุณหมอก็บอกว่าโอกาสจะเป็นโรค A หรือ B นั้นมีโอกาสเท่า ๆ กัน

คราวนี้มันมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้แยกโรค เพียงแต่เครื่องมือนี้ยังพัฒนามาไม่ดีนัก
คือโอกาสที่ทายถูกหรือผิด มีเท่า ๆ กันอีก

แบบนี้ถามว่าเราควรเสียเวลาใช้เครื่องมือทางการแพทย์นี้ตรวจเพิ่มเติมไหมครับ ?
เห็นแบบนี้แล้ว ทุกคนน่าจะตอบว่าไม่เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไรใช่ไหม เพราะสุดท้ายถึงตรวจออกมาว่าเป็นโรค A มันก็มีโอกาสผิด 50% อยู่ดี พูดง่าย ๆ คือถึงใช้หรือไม่ใช่เครื่องมือนี้ ก็มีค่าเท่ากัน !!!

แต่เชื่อไหมครับ ...

ในชีวิตจริง มีหลายคนที่ทำในลักษณะนี้อยู่เป็นประจำ
เราเรียกลักษณะของการที่เรามักจะวิ่งหาข้อมูลทั้ง ๆ ที่มันไม่ได้ให้อะไรเพิ่มเติมว่า Information bias ครับ

ในตลาดหุ้นมีอะไรแบบนี้เยอะมาก
เราพยายามวิ่งหาข้อมูลการทำนายราคาหุ้นในอนาคตทั้ง ๆ ที่หลายครั้งเราก็รู้ว่า
การทำนายนั้นมีโอกาสถูกหรือผิดได้เท่า ๆ กัน

แต่มันก็อดไม่ได้ใช่ไหมครับ

เราไปถามหุ้นจาก Webboard ทั้ง ๆ ที่เราก็รู้ว่า ใครไม่รู้จะมาตอบ เขาเป็นผู้รู้จริงหรือเปล่าก็ไม่ทราบ และถึงเขาบอกหุ้นมา เราก็ไม่กล้าซื้อหรือขายตามที่เขาบอกอยู่ดี

แต่เราก็ยังทำใช่ไหมครับ 555

บางที เวลาที่เราเสียไปกับการหาข้อมูลแบบนี้ เอามาใช้สร้างทักษะ และความรู้เพิ่มเติมให้กับตัวเอง อาจจะดีกว่านะครับ
pinguwing
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 193
ผู้ติดตาม: 2

Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน

โพสต์ที่ 50

โพสต์

ระวังเรื่องขนาดตัวอย่าง (Insensitivity to sample size)

มีคำถามมาให้คิดกันเล่น ๆ นะครับ

สมมุติว่าในการคลอดแต่ละครั้ง โอกาสที่จะได้ลูกชายกับลูกสาวมี 50% เท่า ๆ กัน
ในเมืองแห่งหนึ่งมีโรงพยาบาล 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลขนาดใหญ่ กับ ขนาดเล็ก
โรงพยาบาลขนาดใหญ่มีคนมาคลอดโดยเฉลี่ย 45 คนต่อวัน ในขณะที่โรงพยาบาลขนาดเล็ก
มีคนมาคลอด 15 คนต่อวัน

คำถามคือ ในเวลา 1 ปี ถ้าเรานับจำนวนวันที่แต่ละโรงพยาบาลมีคนที่คลอดแล้วได้ลูกชายเกินกว่า 60% คิดว่าโรงพยาบาลแบบไหนที่จะมีจำนวนวันแบบนี้มากกว่ากันครับ

ก. โรงพยาบาลขนาดใหญ่
ข. โรงพยาบาลขนาดเล็ก
ค. ทั้งสองโรงพยาบาลน่าจะใกล้เคียงกัน (บวกลบไม่เกิน 5%)

เอ้า ให้เวลาคิดครับ ....
...
...
...
หมดเวลาครับ (เร็วจัง 555)

ถ้าท่านตอบข้อ ค. ท่านเหมือนคนส่วนใหญ่ครับ เพราะประมาณ 56% จะตอบกันข้อนี้

แล้วคำตอบที่ถูกต้องล่ะครับ
จริง ๆ ต้องข้อ ข. โรงพยาบาลขนาดเล็กครับ

เป็นไปได้ยังไง !!!

ก็เพราะว่าโรงพยาบาลขนาดเล็กมีคนคลอดแต่ละวันในจำนวนที่น้อยกว่าไงครับ
เพราะฉะนั้น มันจึงมีโอกาสในการ Swing ของข้อมูลสูงกว่ามาก

ส่วนโรงพยาบาลขนาดใหญ่นั้น มีคนคลอดแต่ละวันเยอะมาก ดังนั้น Ratio ของเด็กชายกับเด็กหญิง จึงมักจะไม่หนี 50% สักเท่าไร

สิ่งนี้แหละครับที่เรียกว่า Insensitivity to sample size
คือเราไม่ค่อยคิดถึงเรื่องจำนวนกลุ่มตัวอย่างสักเท่าไร
คำถามข้างต้น ผมก็ไม่ได้คิดเองนะครับ เป็นคำถามที่มาจากการศึกษาของ Amos Tversky และ Daniel Kahneman 2 นักวิจัยชื่อดัง ที่ผมมักอ้างอิงถึงอยู่บ่อย ๆ

คราวนี้ ถ้าผมมองในมุมของการลงทุนในหุ้นบ้าง ถ้าเรามองว่าโดยทั่วไปแล้วโอกาสหุ้นขึ้นกับลงมีเท่า ๆ กันที่ 50%

แต่เรามีพอร์ตอยู่ 2 พอร์ต พอร์ตแรกมีหุ้น 20 ตัว กับพอร์ตที่ 2 มีหุ้นอยู่แค่ 5 ตัว คำถามคือในเวลา 1 ปี คิดว่าจำนวนวันที่อย่างน้อยจำนวนหุ้น 60% ของหุ้นทั้งหมดที่มีในพอร์ตจะมีราคาขึ้น
ของพอร์ตแบบไหนมีจำนวนมากกว่ากันครับ ?

คราวนี้คำตอบน่าจะชัดเจนนะครับ
คือพอร์ตที่มีหุ้นน้อยไงครับ

ไม่ได้หมายความว่า งั้นพอร์ตที่มีหุ้นน้อยดีกว่านะครับ เพราะหากถามว่าจำนวนวันที่อย่างน้อยจำนวนหุ้น 60% ของพอร์ตมีราคาลดก็เป็นของพอร์ตที่มีหุ้นน้อย เช่นเดียวกัน!!

เพราะพอร์ตที่มีหุ้นน้อย มันมีการ swing ได้มากกว่าพอร์ตที่มีหุ้นเยอะครับ
พอร์ตที่มีหุ้นเยอะ อัตราส่วนมันจะวิ่งเข้าหาค่า 50% อยู่แล้วจะ Swing ก็ไม่มาก
แต่พอร์ตที่มีหุ้นน้อย หุ้นแต่ละตัวจะขึ้นหรือลงมันกระทบต่อ % ตรงนี้ได้มากกว่า

ดังนั้นเวลาดูตัวเลขเพื่อตัดสินใจอะไร ระวังเรื่องจำนวนกลุ่มตัวอย่างให้ดีนะครับ
เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่เป็นเรื่องหนึ่งที่คนมักจะละเลยกันเป็นประจำครับ
pinguwing
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 193
ผู้ติดตาม: 2

Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน

โพสต์ที่ 51

โพสต์

ไม่ขาย ไม่ขาดทุน (Irrational escalation)

เราเคยได้ยินหรือได้อ่านสิ่งนี้อยู่บ่อย ๆ ใช่ไหมครับ

"ผมรบกวนอยากถามว่า หุ้น XX ผมควรซื้อเพิ่มหรือควรขายดีครับ"
"แล้วต้นทุนคุณเท่าไรล่ะ"

ลองอ่านใน Webboard ต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งในทีวี
ก็จะมีคำถามและคำตอบ (ในเชิงถามกลับ) แบบนี้เสมอ

เอ้า สมมุตินะครับ ตอนนี้ราคาหุ้น XX อยู่ที่ 10 บาท
แล้วผมโทรไปถามกูรูหุ้นว่า ควรซื้อหรือขายดี
แล้วเขาถามผมกลับว่าแล้วต้นทุนผมอยู่ที่เท่าไร

1) ถ้าผมตอบกลับว่า 8 บาท คำแนะนำก็อาจจะเป็น ขายทำกำไรไปก่อน
2) แต่ถ้าผมตอบกลับว่า 12 บาท คำแนะนำก็อาจจะเป็น ให้ซื้อถัว หรือถือไว้ก่อน

ความน่าแปลกใจคือ กลายเป็นว่า ต้นทุนของผมในอดีต กลับกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ตัดสินอนาคต !!!

ใครต้นทุนสูง ให้ถือ แต่ใครต้นทุนต่ำให้ขาย ทั้ง ๆ ที่เป็นหุ้นตัวเดียวกัน !!!

จริง ๆ แล้วคำแนะนำที่ควรเป็นมันน่าจะเกิดจากการคาดเดาอนาคตมากกว่าต้นทุนในอดีตมากกว่าไม่ใช่เหรอครับ

ถึงแม้ว่าจะไม่มีใครคาดเดาได้ถูก 100%
เราจึงต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญที่เรียกกันว่า "กูรู" ไงครับ

เช่นถ้ากูรูท่านนั้นคาดเดาว่า หุ้นจะขึ้น ไม่ว่าต้นทุนเราจะเป็นเท่าไรเราก็ควรจะซื้อ
แต่ถ้าคาดเดาว่า หุ้นจะลง ไม่ว่าต้นทุนเท่าไร เราก็ควรจะขาย
ต่อให้ขายแล้ว มันขาดทุน เราก็ควรขาย
เพราะไม่อย่างนั้นมันจะยิ่งขาดทุนหนักกว่าเดิมจริงไหมครับ

แต่สิ่งที่เราเห็นอยู่บ่อย ๆ กลับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นข้างต้น
ต้นทุนกลายเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจในอนาคต

สิ่งนี้เราเรียกมันว่า Irrational escalation
ซึ่งเป็นศัพท์ที่ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในปี 1976 โดย Barry Staw อาจารย์ทางด้านพฤติกรรมองค์กร
จาก Northwestern University

แต่ระยะหลัง คำที่มักจะเป็นที่รู้จักมากกว่าคือ Sunk Cost Fallacy ครับ

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราได้ลงทุนลงแรงไปพอสมควรกับการซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง
เมื่อเราลงทั้งเงินและเวลาไปแล้วเรารู้สึกเหมือนกับว่า เราไม่ควรจะเปลี่ยนการตัดสินใจแล้ว
เราจะยึดติดกับการตัดสินใจนั้น

เช่นซื้อหุ้นไว้ 10 บาท 10,000 หุ้น เป็นเงิน 100,000 บาท
ถ้าจะให้เราเปลี่ยนการตัดสินใจ (คือขายหุ้นนี้ทิ้ง) มันจะต้องทำกำไรให้เรา

เราเอาทุน 100,000 บาท เป็นหลักยึดในการตัดสินใจในอนาคต
ดังนั้นพอหุ้นมันตกลงเหลือ 9 บาท มูลค่าหุ้นเหลือ 90,000 บาท
เราจึงมักจะไม่ขายมัน เพราะถ้าขายมันขาดทุนไป 10,000 บาท

ทั้ง ๆ ที่ตอนนี้ ต้นทุนมันเป็นอดีตไปแล้ว
เราจะซื้อหรือขาย มันควรจะอยู่กับการคาดเดาอนาคตมากกว่าว่าหุ้นจะกลับมาขึ้น หรือจะลงไปเรื่อย ๆ

อันนี้แหละครับเป็นที่มาของคำพูดฮิตอันหนึ่งที่ว่า
"ไม่ขาย ไม่ขาดทุน"
จริง ๆ คำพูดนี้ เขาอาจจะพูดไม่จบนะครับ

คำเต็ม ๆ อาจจะเป็น
"ไม่ขาย ไม่ขาดทุน แต่หมดตัว" ครับ
จอมยุทธอินทรี
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 524
ผู้ติดตาม: 226

Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน

โพสต์ที่ 52

โพสต์

ขอบคุณมากครับ ผมชอบรวมๆแบบนี้มากกว่าทีละกระทู้
อ่านง่าย และได้ความรู้มากครับ

ขอบคุณครับ
pinguwing
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 193
ผู้ติดตาม: 2

Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน

โพสต์ที่ 53

โพสต์

ยิ่งน้อย ยิ่งดี (Less-is-better effect)

มีคำถามมาถาม (อีกแล้ว) ครับ

ถ้าให้เลือกอันใดอันหนึ่งระหว่าง 2 อย่างนี้ เราจะเลือกอันไหนดีครับ

ก. ชุดจานชามที่มี 24 ใบ ที่ทุกชิ้นอยู่ในสภาพสมบูรณ์
ข. ชุดจานชามเหมือนกัน แต่มี 31 ใบ โดยมีจานที่แตกเป็นรอยอยู่ 2-3 ใบ

เอาใหม่นะครับ แล้วระหว่าง 2 คนนี้ คิดว่าคนไหนใจกว้างกว่ากันครับ

ก. คนที่บริจาคผ้าพันคอที่มีมูลค่าแพงถึง 1,300 บาทโดยประมาณ
ข. คนที่บริจาคเสื้อสูทถูก ๆ ที่มีมูลค่าประมาณ 1,600 บาท

จริง ๆ ถ้าเขียนออกมาแบบนี้
จะดูเหมือนคำตอบมันน่าจะชัดเจนนะครับ

แต่จากผลการศึกษา ในปี 1998 โดย Christopher Hsee อาจารย์จาก University of Chicago
เชื่อไหมครับว่า คนส่วนใหญ่เลือกข้อ ก. มากกว่าข้อ ข. !!!

นี่แหละครับที่เราเรียกว่า Less-is-better effect
คือคนทั่วไปกลับให้คุณค่ากับสิ่งที่มีมูลค่าน้อยกว่า !!!

เหตุผลที่ใช้อธิบายผลการศึกษานี้ ก็คือว่า คนเรามักจะเปรียบเทียบโดยใช้ค่าเฉลี่ยมากกว่าผลรวม
เช่นในคำถามแรก ชุดจานชาม 24 ใบที่ไม่แตกเลย มันมี “ค่าเฉลี่ย” ของคุณภาพ ที่สูงกว่า ชุดจานชาม 31 ใบ ที่มี 2-3 ใบแตกหัก

ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว ถึงมี 2-3 ใบที่แตกหัก เราก็ยังมีจานชามที่ไม่แตกหักมากกว่า 24 ใบอยู่ตั้งหลายใบ จริงไหมครับ

อย่างคำถามข้อที่ 2 ของการทดลองนี้ ผลปรากฎว่าคนที่บริจาคผ้าพันคอที่มีมูลค่าถึง 1,300 บาท
จะได้รับการยกย่องว่าใจกว้างมากกว่าคนบริจาคเสื้อสูทที่มีมูลค่า 1,600 บาท ทั้ง ๆ ที่ทุกคนก็รู้ว่า 1,600 บาทมันมากกว่า 1,300 บาท

ทำไมน่ะเหรอครับ
คืออย่างนี้ครับ

เป็นเพราะว่าผู้ตอบคำถามคิดเปรียบเทียบว่าผ้าพันคอทั่วไปราคามันถูกกว่า 1,300 บาทตั้งเยอะ แสดงว่าผู้บริจาคต้องเอาของคุณภาพดี ๆ มาบริจาคแน่

ในขณะที่สูททั่วไปราคาสูงกว่า 1,600 บาทตั้งเยอะ ทำให้เขาคิดว่าสูทที่เอามาบริจาคอาจเป็นสูทที่คุณภาพไม่ค่อยดีนักก็ได้ไงครับ !!!

อีกตัวอย่างหนึ่งของ Less-is-better effect ก็คือ
ว่ากันว่าในการแข่งขันกีฬาใด ๆ ก็ตามคนที่ได้เหรียญเงินมักจะมีความสุขน้อยกว่าคนที่ได้เหรียญทองแดง เพราะว่า...

คนที่ได้เหรียญเงินมักจะเอาตัวเองไปเปรียบกับคนที่ได้เหรียญทอง ในขณะที่คนที่ได้เหรียญทองแดง จะเอาตัวเองไปเปรียบกับคนที่ไม่ได้เหรียญอะไรเลย !!!

คราวนี้กลับมาที่การลงทุนนะครับ เวลาเราจะเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของบริษัท
ระวังเรื่องแบบนี้ไว้ด้วยนะครับ

เช่นถ้าบริษัท A มีการลงทุน 5 โครงการ มี “ค่าเฉลี่ย” ของกำไรต่อเงินลงทุนอยู่ที่ 10%
บริษัท B มีการลงทุน 6 โครงการ มี “ค่าเฉลี่ย” ของกำไรต่อเงินลงทุนที่ 8%

ก็ไม่ได้หมายความว่า A จะดีกว่า B เสมอไปนะครับ
เพราะการลงทุน 6 โครงการ ของบริษัท B ถึงมีกำไรต่อเงินลงทุนเฉลี่ยต่ำกว่าการลงทุน 5 โครงการของบริษัท A ก็จริง แต่ “เม็ดเงิน” กำไร ของ B อาจจะมากกว่า A และกำไรต่อหุ้นอาจจะสูงกว่า A ก็ได้นะครับ

ระวังหลุมพรางในเรื่องนี้กันด้วยครับ
pinguwing
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 193
ผู้ติดตาม: 2

Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน

โพสต์ที่ 54

โพสต์

“เสีย” มันเจ็บปวดมากกว่า “ได้” (Loss aversion)

เชื่อไหมครับว่าในจำนวนเงินเท่า ๆ กัน
สมมุติว่า 10,000 บาท เวลาเราเสียมันไป
มันจะมีความรู้สึกเจ็บปวดมากกว่าความดีใจที่ได้มันมา !!!

เราเรียกสิ่งนี้ว่า Loss aversion ครับ

มีงานวิจัยหลายงานได้ประมาณว่าความเจ็บปวดจากการสูญเสียนั้น
มีขนาดถึงประมาณ 2 เท่ากับ ความสุขจากการได้มาในจำนวนเงินที่เท่ากัน

แปลว่าถ้าเสียเงินไป 10,000 บาท จะเอาความสุขมาชดเชยได้ ก็ต้องได้เงินมา 20,000 บาท ทีเดียว !!!

คำว่า Loss aversion มีที่มาจาก 2 กูรู คนสำคัญ ในเรื่องความลำเอียงในการตัดสินใจ ได้แก่
Amos Tversky และ Daniel Kahneman

คนทั่วไปมีลักษณะของการกลัวความสูญเสียนี่แหละครับ
ที่เป็นที่มา ที่คนทั่วไปไม่กล้าเสี่ยง เพราะถ้าไม่เสี่ยง
ก็จะไม่มีทางเสีย แต่ถ้าเสี่ยง มันมีโอกาสเสียขึ้น

ถ้าสมมุติว่าโอกาสได้พอ ๆ กับโอกาสเสีย
คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่กล้า
เพราะเวลาเสียมันเจ็บปวดกว่านี่เอง !

สังเกตไหมครับเวลาเล่นหุ้น เมื่อเสียเงินไป เรามักจะเจ็บใจและมักจะพยายามเอาคืน
ทั้ง ๆ ที่เงินจำนวนนั้นเมื่อวันก่อนเราก็ได้มาเหมือนกัน เราก็ไม่เห็นจะดีใจอะไรมากมาย

ก่อนที่เราจะหน้ามืดตามัว ลองไตร่ตรองดูสักนิดนะครับว่า
เรามีลักษณะนี้อยู่หรือเปล่าครับ
pinguwing
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 193
ผู้ติดตาม: 2

Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน

โพสต์ที่ 55

โพสต์

ระวังจะหลงรักหุ้น โดยไม่รู้ตัว (Mere-exposure effect)

ออกตัวก่อนนะครับ ว่าผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้
แต่ “กูรู” หลายท่านแนะนำว่าเวลาจะจีบผู้หญิง สิ่งหนึ่งที่ควรจะทำคือไปให้เขาเห็นหน้าบ่อย ๆ
ถึงเขาจะไล่ ด่า ว่า ยังไง ก็ไปให้เขาเห็นเถอะ เพราะเห็นบ่อย ๆ ต่อไปก็คิดถึงเราเอง
คิดถึงบ่อย ๆ ต่อไปก็หลงรัก โดยไม่รู้ตัว

คำแนะนำข้างบนนี้ มีหลักวิชาการนะครับ
เขาเรียกว่า Mere-exposure effect

ย้อนไปตั้งแต่ในช่วงปี 1960s Robert Zajonc นักจิตวิทยาสังคม ชาวอเมริกัน เชื้อสายโปแลนด์
ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ University of Michigan ได้ทำการศึกษาถึงปรากฏการณ์นี้ และพบว่า ...

อะไรก็ตามที่เราพบเห็นบ่อย ๆ
มันจะทำให้เราชอบโดยไม่รู้ตัว !!!

ปรากฏการณ์นี้เองเป็นที่มีของหลักการโฆษณาที่พยายามเน้นให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้เห็นสินค้าบ่อย ๆ เพื่อให้ลูกค้ากลุ่มนั้น ชื่นขอบสินค้าในที่สุด

กลับมาที่หุ้นเหมือนกันครับ
บางที ที่เราซื้อหุ้นบางตัว หรือรู้สึกดี ๆ กับบริษัทบางบริษัท
มันอาจจะไม่ใช่เพราะงบการเงินที่ดี ผู้บริหารที่ซื่อสัตย์ก็ได้

แต่มันอาจจะเป็นเพียงเพราะว่ามันเป็นบริษัทที่เราเห็นอยู่บ่อย ๆ เช่น ร้านสะดวกซื้อ 7-11
หรือรถไฟฟ้า BTS ที่เราใช้เดินทางทุกวัน (แต่ก็ไม่ได้บอกว่าหุ้นทั้งสองบริษัทไม่ดีนะครับ)

เรียกง่าย ๆ ว่าเราหลงรักไปโดยไม่รู้ตัวก็ว่าได้นะครับ
pinguwing
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 193
ผู้ติดตาม: 2

Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน

โพสต์ที่ 56

โพสต์

ราคากับมูลค่าไม่ใช่สิ่งเดียวกัน (Money illusion)

สมมุติว่าเราเอาเงิน 50 บาทซื้อปากกาด้ามหนึ่ง
คำถามคือ ปากกาด้ามนี้มีราคาเท่าไร
ง่ายมากที่จะตอบใช่ไหมครับ ก็ 50 บาทไงล่ะ
งั้นถามอีกคำถามหนึ่งคือ แล้วปากกาด้ามนี้มีมูลค่าเท่าไร

ผมว่าคนส่วนใหญ่ก็ยังตอบ 50 บาทอยู่ดี
เพราะอะไร ก็เพราะเขาเอาเงิน 50 บาทมาแลกปากกาด้ามนี้ มูลค่าของปากกาก็น่าจะมีมูลค่า 50 บาทจริงไหมครับ

ไม่ใช่เลยครับ มันคนละเรื่องกันเลย!!!

ราคากับมูลค่ามันอาจจะเท่ากันหรือไม่เท่ากันก็ได้ครับ
อย่างปากกาถ้าเราซื้อมันมา แล้วปากกาด้ามนี้มันสามารถสร้างประโยชน์ให้เราได้มหาศาล เช่น
เอาไปวาดรูป และรูปนี้เป็นที่ต้องการของคนจำนวนมาก
เราขายรูปได้ 1,000 บาท อย่างนี้ก็เท่ากับว่ามูลค่าของปากกาด้ามนี้ก็มาก

แต่ในขณะเดียวกัน หากเราซื้อปากกาด้ามนี้มาแล้ว
แต่เราเอามันมาวางไว้เฉย ๆ จนกระทั่งหมึกมันระเหยหมด
แบบนี้มูลค่าของปากกาด้ามนี้ก็น้อยมาก หรืออาจจะไม่มีเลย

เห็นไหมครับว่า 50 บาทที่ซื้อมา มันเป็นเพียงแค่ราคาแต่มันอาจจะไม่ใช่มูลค่าของปากกาด้ามนี้เลย

ในปี 1928 Irving Fisher นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันได้เขียนหนังสือชื่อ The Money Illusion
โดยอธิบายให้เห็นว่า Money illusion นั้นคือความรู้สึกของคนทั่วไปว่าเงินที่เรามีอยู่มันมีมูลค่าเท่ากับสิ่งที่เขียนไว้ในหน้าธนบัตรหรือในเหรียญ

เช่นสมมุติว่าเราถือแบงก์พันอยู่ เราก็มักจะคิดว่าแบงก์พันนั้นมีมูลค่าหนึ่งพันบาท
ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว อาจจะไม่ใช่ !!!

อะไรนะ แบงก์พัน มีมูลค่าไม่เท่ากับหนึ่งพัน เป็นไปได้ยังไง ? แบงก์ปลอมเหรอ ?

ไม่ใช่แบงก์ปลอมครับ แต่ 1,000 บาทที่เขียนบนแบงก์นั้น มูลค่าของมันควรจะถูกวัดจาก “ความสามารถในการซื้อสินค้าหรือบริการ” มากกว่า

อย่างนี้ครับ สมมุติว่าตอนนี้อัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 0% เงิน 1,000 บาท อาจจะนำไปซื้อสินค้าได้ 1,000 ชิ้น (คือชิ้นละบาท) แต่ถ้าอัตราเงินเฟ้อมันเพิ่มขึ้น 100% (ราคาเพิ่มขึ้นเป็นชิ้นละ 2 บาท) เงิน 1,000 บาทนั้น มันซื้อสินค้าได้แค่ 500 ชิ้นเท่านั้น

เห็นไหมครับ แบงก์หนึ่งพัน ทั้งสองกรณี นำไปแลกสินค้าได้ไม่เท่ากัน ก็แปลว่ามูลค่าของมันต่างกันไงครับ!!!

ในปี 1995 ทีมวิจัยที่นำโดย Professor Benartzi แห่ง UCLA ได้ทำงานวิจัยพบว่าถ้าเราถูกลดรายได้ลง 2% เราจะรู้สึกไม่พอใจ ไม่ยุติธรรม

แต่ถ้าเราได้รับเงินเดือนขึ้น 2% ในขณะที่เงินเฟ้อขณะนั้น อยู่ที่ 4% เรากลับรู้สึกพอใจ ทั้ง ๆ ที่สองสถานการณ์นี้ มันเหมือนหรือใกล้เคียงกันมาก!!!

เห็นไหมครับว่า บางทีสิ่งที่เราเห็นชัด ๆ มันไม่ได้วัดมูลค่านะครับ
ราคาหุ้นที่เราซื้อมา มันเป็นแค่ “ราคา” แต่มันไม่ใช่ “มูลค่า” ของหุ้นตัวนั้น

นักลงทุนสาย VI คงเข้าใจความหมายนี้ดีเพราะหลักการของการลงทุนที่เน้นมูลค่าก็คือ
ซื้อในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่ามาก ๆ เรียกว่าได้กำไรตั้งแต่ซื้อนั่นแหละครับ

อย่างที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ปรมาจารย์ในสาย VI กล่าวไว้แหละครับว่า

“Price is what you pay. Value is what you get”
“ราคาคือสิ่งที่เราจ่ายไป ส่วนมูลค่าคือสิ่งที่เราได้มา”

ชัดเจนมาก ๆ เลยครับ
pinguwing
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 193
ผู้ติดตาม: 2

Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน

โพสต์ที่ 57

โพสต์

เราเคยทำถูก ดังนั้นเราจึงทำผิดได้ (Moral credential effect)

เราเคยมีความรู้สึกแบบนี้กันบ้างไหมครับ
พอเราออกกำลังกายเสร็จเหนื่อย ๆ เราก็รู้สึกอยากกินไอติมสักถ้วยหนึ่ง
และก็รู้สึกว่า ไม่เป็นไรหรอก เพราะเราออกกำลังกายมาแล้ว

หรือเวลาเราเก็บเงินมาได้สักระยะหนึ่ง แต่ไปเจอของที่ถูกใจ เราก็ควักเงินจ่าย
เพราะเรารู้สึกว่า ไม่เป็นไรหรอก เราอุตส่าห์เก็บเงินมาตั้งนาน ใช้นิดใช้หน่อยจะเป็นไรไป

มันคล้าย ๆ กับว่า การออกกำลังกาย เป็นใบอนุญาตให้เราสามารถกินไอติมได้โดยไม่รู้สึกผิด
หรือการเก็บเงินมาตลอด เป็นใบอนุญาตที่ทำให้เราซื้อของได้โดยไม่รู้สึกผิด

ถ้าเราเคยมีความรู้สึกแบบนี้ แสดงว่าขณะนั้นเรากำลังตกอยู่ในความลำเอียงในการตัดสินใจที่เรียกว่า Moral credential effect แล้วล่ะครับ

ในปี 2001 Benoît Monin และ Dale Miller แห่งมหาวิทยาลัย Princeton ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเรื่อง “Moral credentials and the expression of prejudice” ใน Journal of Personality and Social Psychology

โดยจากการศึกษาพบว่า
ผู้ชายที่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับการกีดกันทางเพศ กลับเป็นคนที่มักจะให้คะแนนผู้สมัครผู้ชายด้วยกันสูงกว่าผู้สมัครผู้หญิง

หรือคนผิวขาวที่เคยจ้างพนักงานที่เป็นคนผิวดำมาก่อนในอดีต มักจะมีแนวโน้มที่จะชอบคนผิวขาวด้วยกันมากกว่าในการจ้างงานครั้งต่อไป

สิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีแรกคือ เมื่อเราได้มีโอกาสทำในสิ่งที่ควรทำ คือการต่อต้านการกีดกันทางเพศแล้วเรามักจะรู้สึกว่าเรามี “สิทธิ” ที่จะทำบางสิ่งที่โดยปกติแล้วไม่ควรทำ

หรือในกรณีที่สองคือ เมื่อเราได้เลือกคนผิวดำเข้าทำงานมาแล้ว เราก็มี “สิทธิ” ที่จะมีความลำเอียงในเรื่องผิวสีในการตัดสินใจในครั้งต่อไป

อาการแบบนี้ บางครั้งก็อาจจะเข้ามามีส่วนในการตัดสินใจในการลงทุนของเราเช่นกันนะครับ
เช่น เราอาจจะมีแนวทางการลงทุนที่ดีและได้อดทนปฏิบัติตามแนวทางนั้นมาตลอด
ก็ไม่ได้หมายความว่า ในการลงทุนครั้งต่อไป เราจะสามารถละเมิดกฎการลงทุนของเราได้นะครับ

อย่างว่าครับ การที่เราเคยทำถูกมาในอดีต ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เราสามารถทำผิดได้ในอนาคตนะครับ
pinguwing
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 193
ผู้ติดตาม: 2

Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน

โพสต์ที่ 58

โพสต์

หุ้นที่ไม่ใช่ อะไร ๆ ก็ไม่ถูก (Negativity effect)

เราอาจจะเคยมีปัญหากับการซื้อหรือขายหุ้นบางตัวที่ทำให้เราขาดทุนอย่างมาก
หรือเราอาจจะมีความรู้สึกแย่ ๆ กับบางบริษัท เช่นเคยไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการแล้วได้รับบริการที่ไม่น่าประทับใจ จนในที่สุดเราก็เกลียดบริษัทนั้น

สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาคือ...
เวลาเราศึกษาข้อมูลการลงทุนในตลาดหุ้นแล้วไปเจอหุ้นของบริษัทนี้
เรามักจะให้น้ำหนักกับด้านลบมากกว่าด้านบวกเสมอ !!!
และมักจะพยายามบอกตัวเองว่า สิ่งลบ ๆ เหล่านั้น เกิดจากตัวบริษัทเอง ส่วนสิ่งที่เป็นบวกนั้น เกิดจากสภาพแวดล้อมอื่น ๆ

อย่างนี้เรียกว่าเรากำลังโดน Negativity effect เล่นงานอยู่ !!!

เช่น ถ้าบริษัทยอดขายลดลง เราก็จะบอกว่าเป็นเพราะพนักงานบริษัทนี้ไม่ได้เรื่อง ผู้บริหารไม่เก่ง
แต่ถ้ายอดขายเพิ่มขึ้น เรากลับมองว่าเป็นเพราะเศรษฐกิจดีขึ้น หรือได้รับประโยชน์จากภาครัฐ เป็นต้น

ระวังกันไว้ก็ดีนะครับ เพราะหากเรามองเป็นลบแบบนี้บ่อย ๆ หลายครั้งก็จะทำให้พลาดโอกาส
งาม ๆ ไปได้เหมือนกันนะครับ
pinguwing
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 193
ผู้ติดตาม: 2

Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน

โพสต์ที่ 59

โพสต์

ข่าวร้ายมักจะใหญ่กว่าข่าวดี (Negativity bias)

เวลาเล่นหุ้น เคยเจอภาวะที่เรียกว่า Panic Sell ไหมครับ
Panic Sell คือเหตุการณ์ที่เราขายแบบตื่นตระหนกตกใจ
ประมาณว่ามีข่าวร้ายเกิดขึ้น จริงหรือไม่จริงยังไม่รู้
แต่ทุกคนก็ตกใจ แล้วเทขายหุ้นออกมา

ช่วงเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็น Trader ประเภทซื้อขายรายวัน
หรือนักลงทุนบางท่านที่มีความตั้งใจจะลงทุนระยะยาว
เรียกตัวเองว่าเป็น VI (Value Investor)

กลับตระหนกตกใจเทขายหุ้นออกมา แบบไม่ลืมหูลืมตา!!!

แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือดัชนีตลาดหุ้นตกลงอย่างมาก
จนบางครั้งถึงจุดที่เรียกว่า Circuit Breaker
หรือสถานการณ์ที่ตลาดหลักทรัพย์หยุดซื้อขายหุ้นชั่วคราว

ซึ่งในตลาดไทยนั้น จะมีสองระดับคือระดับแรก

เมื่อ SET Index ลดลง 10% ของค่าดัชนีวันก่อนหน้า
ก็จะทำการหยุดซื้อขาย 30 นาที

และระดับที่สองคือ เมื่อ SET Index ลดลง 20% ของ
ดัชนีวันก่อนหน้า ก็จะทำการหยุดซื้อขายอีก 1 ชั่วโมง

มาตรการนี้เรียกง่าย ๆ คือเรียกสตินักลงทุนกลับมานั่นแหละครับ !!!

เอ แต่เคยสงสัยไหมครับ เมื่อมันมี Panic Sell ทำไม
มันไม่มี Panic Buy บ้าง แบบซื้อหุ้นไม่ลืมหูลืมตา
ทำไม ตลาดหลักทรัพย์ไม่มีมาตรการหยุดยั้งว่า
เฮ้ย นักลงทุนซื้อกันมากไปแล้ว มีสถิติกันหน่อย

ทำไมเราไม่มี Circuit Breaker แบบนี้บ้าง

เหตุผลง่าย ๆ คือ เพราะมันไม่เคยเกิดอะไรแบบนี้น่ะสิครับ

คำถามคือทำไมเราเห็นแต่ Panic Sell แต่ไม่เห็น Panic Buy

เหตุผลคือสิ่งที่เรียกว่า Negativity Bias ครับ
คนเราส่วนใหญ่แล้ว จะให้น้ำหนักกับสิ่งที่เป็นลบ มากกว่าสิ่งที่เป็นบวก

Daniel Kahneman และ Amos Tversky 2 กูรูชื่อดัง
ก็ยืนยันว่าคนส่วนใหญ่เป็นพวก Loss Aversion คือ เป็นพวกที่กลัวเสียเงิน มากกว่าเสียโอกาส

พอหุ้นขึ้นเยอะ ๆ ก็เลยไม่ต้องมี Circuit Breaker ไงครับ เพราะคนส่วนใหญ่ก็จะขายหุ้นกันเอง
เพราะเขาไม่ค่อยกลัวเสียโอกาสไงครับ ขึ้นได้ไม่เท่าไร เดี๋ยวก็หยุดครับ

ไม่เหมือนหุ้นตก ทุกคนหลับหูหลับตาขายหมด
เพราะเขากลัวเสียเงินมาก ๆ ไงครับ
นี่เป็นสิ่งยืนยันว่า เราให้น้ำหนักกับข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี

เพราะฉะนั้นรู้อย่างนี้แล้ว ตอนที่เขา Panic Sell กัน มันอาจจะเป็นโอกาสของเราก็ได้นะครับ
pinguwing
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 193
ผู้ติดตาม: 2

Re: รวมบทความจิตวิทยาการลงทุน

โพสต์ที่ 60

โพสต์

เราซื้อหุ้นตัวนี้ทำไม ... ไม่รู้ (Neglect of probability)

ตลาดหุ้นเป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่คำว่า “ความน่าจะเป็น” น่าจะต้องถูกนำมาใช้มากที่สุด
ทำไมถึงพูดแบบนั้นล่ะครับ

เพราะสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในตลาดหุ้นนั้น แทบจะไม่แน่นอนเอาซะเลย

ไม่ว่าจะเป็นหุ้นตัวไหน เราจะวิเคราะห์ไว้ดีอย่างไร อนาคตที่เกิดขึ้นก็ยังคาดเดาไม่ได้

แต่ที่น่าแปลกคือ มีนักลงทุนจำนวนไม่น้อย กลับซื้อหุ้นบางตัว โดยที่แทบจะไม่ได้พิจารณาถึง
“ความน่าจะเป็น” เหล่านี้เลย

เคยถามคนที่ซื้อพวกหุ้นปั่น หุ้นซิ่ง ทั้งหลาย ร้อยทั้งร้อย ซื้อก็เพราะคิดว่ามันจะขึ้นไปหลายเด้ง
แต่ไม่เคยกลับมาลองคิดว่า “ความน่าจะเป็น” ที่มันจะขึ้นกับมันจะตกมีเท่าไร !!!

อาการแบบนี้มีชื่อเรียกว่า Neglect of probability หรือการละเลยความน่าจะเป็นครับ

จากการศึกษาของศาสตราจารย์ Jonathan Baron จากมหาวิทยาลัย Pennsylvania พบว่าหลายคนไม่ยอมใส่Seat Belt ในการนั่งรถยนต์ ด้วยเหตุผลว่าถ้าเกิดอุบัติเหตุแล้วรถตกน้ำ หรือรถไฟไหม้ แล้วจะออกมาไม่ทัน โดยไม่ทันได้คิดว่าโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนั้น มันน้อยมากขนาดไหน!!!

ใครที่เป็นแบบนี้บ่อย ๆ ต้องระวังนะครับ
ลองคิดถึงความน่าจะเป็นก่อน ลองประมาณดูก็ยังดี
ก่อนตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้นครับ